โพล ชี้ ประชาชนเชื่อรัฐประหารเกิดขึ้นได้
ประชาชนสะท้อนผ่านโพล เชื่อว่า รัฐประหารเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
(13 ก.ย.) “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยผลสำรวจความคิดเห็นของ ประชาชนทั่วประเทศที่มีต่อ“ความเคลื่อนไหวทางการเมือง ณ วันนี้”
เมื่อถามว่าประชาชนเชื่อหรือไม่ กับ กระแสข่าว “การทำรัฐประหาร” ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ อันดับ 1 ไม่เชื่อ 58.08% เพราะ ต้องการปล่อยข่าว สร้างกระแส ยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องทำถึงขนาดนั้น ปัจจุบันก็อยู่ภายใต้กำลังทหารอยู่แล้ว ฯลฯ อันดับ 2 เชื่อ 41.92% เพราะ ทางทหารมีการเคลื่อนไหว ปัญหาบ้านเมืองสะสมจนมากเกินไป ต้องการปฏิรูปการเมือง เป็นทางออกที่ไม่ควรมองข้าม ฯลฯ
ประชาชนคิดว่าเหตุการณ์บ้านเมืองในช่วงเวลานี้ “การทำรัฐประหาร” มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ อันดับ 1 อาจจะเกิดขึ้นได้ 46.67% อันดับ 2 ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ 40.61% อันดับ 3 ไม่แน่ใจ 12.72%
ประชาชนคิดว่า “การจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ” มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ อันดับ 1 ไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ 41.79% อันดับ 2 มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ 33.29% อันดับ 3 ไม่แน่ใจ 24.92%
ประชาชนคิดว่าผลดี-ผลเสียของ “การจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ” ผลดี ช่วยลดความขัดแย้ง 73.96% มีความเป็นกลาง 40.35% มีความมั่นคง 37.85% ส่วนผลเสีย ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง 66.55% เกิดความไม่เชื่อมั่น/ไม่ยอมรับ 57.56% ไม่เป็นประชาธิปไตย 57.28%
“รมว.คลังคนใหม่” ควรมีคุณสมบัติแบบใดจึงจะช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ อันดับ 1 มีความรู้ความสามารถด้านเศรษฐกิจ 81.72% อันดับ 2 ซื่อสัตย์ โปร่งใส ไม่ทุจริต 75.20% อันดับ 3 เน้นประโยชน์ของบ้านเมือง 65.12% อันดับ 4 มีประสบการณ์/มีผลงาน 56.99% อันดับ 5 ไม่ยอมให้ถูกแทรกแซง 54.50%
รองศาสตราจารย์ ดร.ธนภัทร ปัจฉิมม์ คณบดีโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า ผลสำรวจนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจของประชาชนที่มีต่อคุณสมบัติของขุนคลังคนใหม่มากกว่ากระแสข่าวการ รัฐประหาร แม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันจะมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ ก็ตาม ซึ่งสาเหตุของ ความไม่เชื่อว่าจะเกิดการรัฐประหารขึ้นในขณะนี้ อาจเป็นเพราะสถานการณ์และตัวแปรที่จะนำไปสู่การทำรัฐประหารยังมี ไม่มากพอ แต่ก็มิได้หมายความว่าจะไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นในการเมืองไทย
สำหรับข้อพิจารณาเกี่ยวกับแนวคิดการ จัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติหรือการเสนอให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกนั้น ดูเสมือนจะไม่มีความเป็นไปได้เลย เพราะเมื่อพิจารณาถึง สัดส่วนทางการเมืองในเรื่องระบบรัฐสภาและเสียงข้างมากของฝ่ายรัฐบาลแล้ว จะเห็นว่ารัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมีแต้มต่อทางการเมืองอยู่หลายขุม ทั้ง ส.ว. ส.ส. และพรรคร่วมรัฐบาลที่ยังมีความเหนียวแน่นและไม่มีการถอนตัว จากพรรคร่วมรัฐบาลเลย ดังนั้น ความเคลื่อนไหวทางการเมือง ณ วันนี้ที่จะนำไปสู่ความเปราะบางของรัฐบาล คือ ปัญหา ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำซึ่งเป็นปัญหาที่นายกรัฐมนตรีต้องเร่งแก้ไขเพื่อมิให้รัฐบาลต้องตกต่ำตามภาวะเศรษฐกิจในยุค NEW NORMAL เพราะขาดความเชื่อมั่นต่อประชาชน