ปชน.แถลงบนดาดฟ้าสภาฯ จี้ รัฐบาล เร่งแก้ฝุ่น PM 2.5

พรรคประชาชน ขนทีม สส.-ส.ก.แถลงสะท้อนปัญหาฝุ่นใน กทม. “ณัฐพงษ์” ชี้วิกฤตฝุ่น PM2.5 คือวิกฤตภาวะผู้นำ หลายมาตรการ รัฐบาล-กทม. ล่าช้า-ทำไม่พอ เปิดเวทีกรรมาธิการเชิญนายกฯ และผู้ว่าฯ ถก 13 ก.พ.นี้
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 ที่อาคารรัฐสภา นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน พร้อมด้วย สส. และ ส.ก. พรรคประชาชน ร่วมแถลงข่าวกรณีปัญหาฝุ่น pm 2.5 ในกรุงเทพมหานครและข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาลและกรุงเทพมหานครในการแก้ปัญหา

โดยนายณัฐพงษ์ระบุว่าสถานการณ์ฝุ่น pm 2.5 ที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปีคือ 1 มกราคม – 5 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นช่วงเวลาที่ชาวกรุงเทพมหานครต้องอยู่กับค่า pm 2.5 ที่เกินมาตรฐานถึง 31 จาก 36 วัน ซึ่งหากเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับ 36 วันที่ผ่านมาของปี 2567 ปัญหาฝุ่น pm 2.5 ในปีนี้มีความหนักเพิ่มขึ้นถึง 20%
ที่ผ่านมาพรรคประชาชนได้ผลักดันมาตรการแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่กำลังมีการพิจารณาอยู่ในเวลานี้ และการใช้มาตรการต่างๆ ผ่านกระทู้และเวทีกรรมาธิการ ส่วนในระดับท้องถิ่น ส.ก.พรรคประชาชน เคยผลักดันข้อบัญญัติรถเมล์อนาคตและข้อบัญญัติพื้นที่สีเขียวเพื่อเพิ่มปอดให้ชาวกรุงเทพมหานคร

นายณัฐพงษ์กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม อุปสรรคในการแก้ไขปัญหาฝุ่น pm 2.5 นั้นเกิดขึ้นจากช่องว่างในการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ปัญหาฝุ่นนอกจากทำร้ายสุขภาพแล้ว ยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 2 ล้านล้านบาทต่อปี จึงถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลกับกรุงเทพมหานครจะต้องดำเนินมาตรการร่วมกันอย่างจริงจัง อุดช่องว่างของการบริหารงานท้องถิ่น
หัวหน้าพรรคประชาชนได้ กล่าวสรุปว่า ข้อเสนอของพรรคประชาชนที่ว่ามาแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1) สิ่งที่ทำแล้ว แต่ยังไม่พอ คือ มาตรการเขตลดฝุ่นที่กรุงเทพมหานครยังดำเนินการไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ที่มีปัญหา จำนวนวันบังคับใช้น้อยเกินไป จำนวนรถที่เข้าร่วมไม่มากพอ รวมถึงการตรวจโรงงานอุตสาหกรรม และการเพิ่มพื้นที่ปลอดภัยให้ประชากรกลุ่มเปราะบาง เช่น ห้องปลอดฝุ่นในสถานศึกษาและสถานพยาบาลต่างๆ
2) สิ่งที่ควรทำ แต่ยังไม่ทำ ได้แก่ ข้อบัญญัติรถเมล์อนาคตที่พรรคประชาชนได้ผลักดัน รวมทั้งมาตรการปรับมาตรฐานและโครงสร้างภาษีรถยนต์ให้สอดคล้องกับอายุของรถ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น รวมถึงมาตรการสำหรับเรือโดยสาร มาตรการควบคุมมลพิษ ซึ่งหลายเรื่องเป็นสิ่งที่กรุงเทพมหานครจำเป็นต้องทำงานร่วมกับรัฐบาล
3) สิ่งที่ควรเตรียมเพื่ออนาคต แต่ยังไม่ได้เริ่ม เช่น การประกาศเขตควบคุมมลพิษ ที่จะช่วยให้กรุงเทพมหานครสามารถควบคุมการปล่อยมลพิษจากภาคขนส่ง โรงงานอุตสาหกรรม และการเผาในพื้นที่เกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อไปว่า มาตรการสำคัญๆ จำนวนมากไม่เกิดขึ้นเพราะผู้บริหารระดับประเทศคือ นายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ไม่ร่วมมือกับผู้บริหารระดับท้องถิ่น พรรคประชาชนจึงขอทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชิญชวนนายกฯ และผู้ว่าฯ กทม. รวมถึงหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับปัญหาฝุ่น มาถกปัญหาและกำหนดมาตรการร่วมกัน ผ่านเวทีของคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 เพราะการประสานงานระหว่างหน่วยงานส่วนกลางกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารจัดการปัญหา PM2.5 ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นในภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย