พลังประชารัฐ ประกาศจุดยืนไม่เอากาสิโน ปกป้องอนาคตประเทศ

“พลังประชารัฐ “ประกาศจุดยืนไม่เอากาสิโน ปกป้องอนาคตประเทศ อย่าปล่อยให้คนไทยตกเป็นทาสการพนัน
(5 ก.พ.68) พรรคพลังประชารัฐ แถลงข่าวประกาศจุดยืนคัดค้านและต่อต้านร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. …
นายชัยมงคล ไชยรบ รองหัวหน้าพรรค และ สส.สกลนคร กล่าวว่า การเปิดบ่อนกาสิโนในประเทศจะทำให้ปัญหาการติดการพนันทวีความรุนแรงขึ้น รวมถึงสร้างผลกระทบต่อครอบครัว เช่น การใช้ความรุนแรงในบ้าน การหย่าร้าง และความล้มเหลว ทางการเงิน นอกจากนี้ การมีบ่อนกาสิโนจะเปลี่ยนค่านิยมในสังคม ส่งเสริมวัฒนธรรมการพนัน และทำให้ คนไทยเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต เช่น ความเครียดจากหนี้สินและการฆ่าตัวตาย การเปิดกาสิโนอาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ในระยะยาวจะไม่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เนื่องการพนันไม่สร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจที่แท้จริงเป็นเพียงการโยกย้ายเงินจาก ผู้แพ้ไปสู่ผู้ชนะ ซึ่งเจ้าของกาสิโนคือผู้ได้ประโยชน์หลักแม้จะอ้างว่าจำกัดพื้นที่กาสิโนเพียง 10% แต่ตัวอย่างจากสิงคโปร์ที่กำหนดพื้นที่กาสิโนเพียง 3% กลับสร้างรายได้ถึง 70% ของอุตสาหกรรมบันเทิง แสดงให้เห็นว่าเป้าหมายของเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ที่แท้จริงอาจเป็นการเปิดบ่อนเสรีนั้นเอง

ขณะที่ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ที่ปรึกษาศูนย์นโยบายและวิชาการ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของร่างกฎหมายคาสิโนว่า มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการลงทุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวยั่งยืน แต่ตนมองว่าเป็นเพียงแค่ “มายาคติ” ที่ขาดความละเอียดรอบคอบทางนโยบาย เนื่องจากการท่องเที่ยวไทยมีจุดขายจาก “ซอฟพาวเวอร์ทางวัฒนธรรมไทย” ที่แข็งแกร่งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การเปิดบ่อนคาสิโนในประเทศไทยจึงไม่ได้เพิ่มเสน่ห์ให้ประเทศมากขึ้น ตรงกันข้ามเท่ากับเป็นการส่งเสริมให้ คนไทยติดการพนันเพิ่มขึ้นเป็นการทำร้ายคนไทยด้วยกันเอง

ทั้งนี้ กฎหมายที่ร่างขึ้นไม่ต่างจากการตีเช็คเปล่าให้นักการเมืองตั้ง “คณะกรรมการนโยบาย” ขึ้นมา โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีอำนาจสูงสุดในการกำหนดหลักเกณฑ์สำคัญทุกอย่าง ปรากฏตามมาตรา 11 เช่น การให้ใบอนุญาต จำนวนใบอนุญาต จังหวัดที่อนุญาต เพื่อนำเข้า ครม. โดยจากปราศจากการประมูลแข่งขันผลประโยชน์ของรัฐส่วนค่าธรรมเนียมต่างๆ ก็อยู่ในกรอบ “ห้ามเกิน” ได้แก่ ค่าธรรมเนียมครั้งแรก 5,000 ล้านบาทต่อ 30 ปี หรือเฉลี่ยปีละ 166 ล้านบาท และค่าธรรมเนียมรายปี 1,000 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการนโยบายฯ สามารถปรับลดลงได้ตามดุลยพินิจ และที่ร้ายที่สุดคือ เรื่องภาษีจาก “ยอดเงินพนัน” (Gross Gambling Revenue: GGR) ซึ่งในต่างประเทศถือเป็นรายได้หลักของรัฐ แต่ร่างกฎหมายใหม่นี้มอบอำนาจให้คณะกรรมการนโยบายฯ กำหนดเอง โดยไม่มีหลักประกันความโปร่งใส หากนักการเมืองเข้าไปเป็นเจ้าของบ่อนผ่านนอมินี เท่ากับเป็นการเปิดช่องให้นักการเมืองบางกลุ่ม “ชงเอง กินเอง” อย่างไร้การตรวจสอบและถ่วงดุล
ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวต่อว่า โครงการนี้ยังขาดการประเมินความเสียหายต่อสังคมจากผู้ติดการพนัน โดยงานวิจัยของสหรัฐฯ (ปี 2546) ชี้ว่า การพนันสร้างความเสียหายสูงถึง 700,000 บาทต่อคน ขณะที่ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้เก็บสถิติ ในประเทศไทยปี 2564 พบว่ามีผู้ติดพนัน 3.5 ล้านคน หากเปิดเสรีบ่อนการพนัน ผู้ติดพนันอาจเพิ่มเป็น 5 ล้านคน ดังนั้น อาจสร้างต้นทุนทางสังคมสูงถึง 3.5 ล้านล้านบาท โดยไม่มีหลักประกันว่า จะแก้ปัญหาบ่อนเถื่อนได้ เลยเพราะบ่อนเถื่อนไม่มีข้อจำกัดในการเข้าเช่นเดียวกับบ่อนถูกกฎหมายในร่างกฎหมายฉบับนี้ นโยบายนี้จึงถือว่าได้ไม่คุ้มเสีย