รัฐสภา ผ่านวาระ 1 เปิดทางให้ ประชาชน ร่วม กมธ. แก้ไข รธน.ได้
รัฐสภาเห็นชอบวาระ 1 ร่างแก้ไขข้อบังคับการประชุมรัฐสภาของพรรคประชาชน เปิดพื้นที่ให้ประชาชนร่วม กมธ.พิจารณาร่างแก้ไข รธน.ได้
วันที่ 14 มกราคม 2567 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา มีการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ซึ่งนำเสนอโดย พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ซึ่งมีเนื้อหาแก้ไขให้มีการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้น เพิ่มการใช้ประโยชน์จากช่องทางออนไลน์ และการยกเลิกบทบัญญัติที่ไม่ได้มีความจำเป็นอีกต่อไป
โดยในส่วนของพริษฐ์ได้นำเสนอหลักการโดยระบุว่าร่างแก้ไขข้อบังคับการประชุมรัฐสภานี้ ประกอบด้วย 3 ข้อเสนอ คือ 1) ข้อเสนอให้มีการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้นในกระบวนการพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากปัจจุบันข้อบังคับการประชุมมีการกำหนดไว้ว่าหากรัฐสภามีการลงมติรับหลักการหรือเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใดในวาระที่ 1 คณะกรรมาธิการที่จะถูกตั้งขึ้นมาต้องประกอบด้วยสมาชิกรัฐสภาเท่านั้น โดยไม่ได้เปิดช่องให้พรรคการเมืองหรือ สว. สามารถเสนอชื่อประชาชนทั่วไปให้เข้ามาทำหน้าที่คณะกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคการเมืองหรือ สว. ได้
ข้อเสนอนี้ จึงมีขึ้นเพื่อปลดล็อกและเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองและ สว. สามารถเสนอชื่อบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่ สส. หรือ สว. เข้ามาทำงานในชั้นคณะกรรมาธิการได้ ด้วยเห็นว่าการปลดล็อกกติกาดังกล่าวจะทำให้พรรคการเมืองหรือ สว. สามารถเสนอชื่อบุคคลที่เข้าไปทำหน้าที่ในคณะกรรมาธิการ ที่จะช่วยทำให้การพิจารณามีความรอบคอบหรือรอบด้านมากขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องรัฐธรรมนูญ หรือตัวแทนภาคประชาสังคมที่ทำงานอย่างต่อเนื่องในการขับเคลื่อนประเด็นรัฐธรรมนูญ หรืออดีตผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในแต่ละพรรคที่มีประสบการณ์เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
พริษฐ์กล่าวต่อไปว่าการปลดล็อกเปิดพื้นที่ดังกล่าว ยังสอดคล้องกับกติกาที่เราใช้กันอยู่ในกระบวนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. หรือ พ.ร.ป. โดยสภาผู้แทนราษฎรหรือรัฐสภา ซึ่งข้อบังคับการประชุมที่เกี่ยวข้องก็ได้กำหนด ให้คณะกรรมาธิการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวมีบุคคลที่พรรคการเมืองและ สว. เสนอชื่อซึ่งไม่ได้เป็น สส. หรือ สว. ได้ รวมถึงยังสอดคล้องกับข้อเสนอเรื่อง สสร. จากฝ่ายต่างๆ ที่มักเสนอให้คนที่ไม่ใช่ สสร. สามารถเข้าไปทำงานในพื้นที่ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ทำงานภายใต้ สสร. ได้
2) การแก้ไขข้อบังคับการประชุมนี้ยังมีข้อเสนอเรื่องการลดกระดาษและการเพิ่มการใช้ประโยชน์จากช่องทางออนไลน์ เนื่องจากข้อบังคับการประชุมปัจจุบัน กำหนดให้การนัดประชุมรัฐสภาและการเผยแพร่เอกสารที่เกี่ยวข้องต้องจัดทำเป็นหนังสือ ข้อเสนอนี้จึงต้องการทำให้การนัดประชุมและส่งเอกสารสามารถทำได้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ปัจจุบันทำอยู่แล้วในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
3) ยกเลิกบทบัญญัติในข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่ไม่ได้มีความจำเป็นอีกต่อไป เนื่องจากมีบทบัญญัติหลายส่วนที่เกี่ยวกับบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งปัจจุบันหมดอายุไปแล้ว ทำให้บทบัญญัติดังกล่าวไม่จำเป็นอีกต่อไป เช่น บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี หรือหมวดที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ
แม้เสียดายที่ไม่มีร่างแก้ไขข้อบังคับจากพรรคอื่นมาประกบ แต่หวังว่าทุกพรรคการเมืองและสมาชิกวุฒิสภา จะร่วมกันรับหลักการร่างแก้ไขข้อบังคับของพรรคประชาชนฉบับนี้ เพื่อทำให้เรามีข้อบังคับที่ทันสมัย และเปิดให้ประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมกับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาในชั้นกรรมาธิการได้มากยิ่งขึ้น
.หลังการเสนอหลักการโดยพริษฐ์เสร็จสิ้นลง ได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางโดยสมาชิกรัฐสภา ก่อนที่พริษฐ์จะได้อภิปรายสรุปและตอบข้อซักถามของสมาชิกหลายประการ โดยพริษฐ์ระบุว่าประเด็นที่มีการถกเถียงกันพอสมควร คือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐภามีมติรับหลักการ
ร่างแก้ไขข้อบังคับนี้แบ่งออกเป็นสองกรณี คือกรณีทั่วไป คือกรณีที่สมาชิกรัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรีมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามาที่รัฐสภา หากรัฐสภารับหลักการเห็นชอบวาระที่ 1 ก็จะต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณารายมาตราก่อนนำเสนอร่างแก้ไขกลับเข้ามาสู่รัฐสภาในวาระที่ 2 ปัจจุบันข้อบังคับกำหนดไว้ว่ามีได้ไม่เกิน 45 คน (เช่น หากมี 42 คน ก็อาจแบ่งเป็นโควตา สว. 12 คน และ โควตา สส. 30 คนที่แบ่งตามสัดส่วนพรรคการเมือง) ซึ่งข้อบังคับกำหนดไว้ว่าทุกคนในคณะกรรมาธิการจะต้องเป็นสมาชิกรัฐสภา สิ่งที่ร่างแก้ไขข้อบังคับนี้ปรับเปลี่ยนก็คือการเปิดกว้างให้พรรคการเมือง และ สว. สามารถเสนอชื่อคนที่ไม่ได้เป็น สส. และ สว. มานั่งในคณะกรรมาธิการได้ในสัดส่วนของตนเอง โดยไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนจำนวน
สำหรับในกรณีพิเศษ คือกรณีที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งรวบรวมรายชื่อ 50,000 รายชื่อเพื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามา หากรัฐสภามีการรับหลักการในวาระที่ 1 ร่างแก้ไขข้อบังคับนี้มีการเสนอให้เปิดพื้นที่ให้ 1 ใน 3 ของคณะกรรมาธิการเป็นผู้แทนของ 50,000 รายชื่อที่ร่วมกันลงชื่อ ซึ่งเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 เดียวกับที่สภาผู้แทนราษฎรใช้กันอยู่ในปัจจุบันอยู่แล้วในกรณีตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ที่ประชาชนเข้าชื่อ 10,000 รายชื่อเสนอเข้ามาและสภาผู้แทนราษฏรรับหลักการในวาระที่ 1
นอกจากนี้ยังมีข้อกังวลว่าคณะกรรมาธิการ 42 คนนั้นอาจจะไม่มีสมาชิกรัฐสภาแม้แต่คนเดียวเลยก็ได้ ในเชิงทฤษฎีก็อาจจะเป็นไปได้ แต่ข้อเสนอเราเปิดให้การเสนอชื่อบุคคลที่จะมาเป็นกรรมาธิการเป็นสิทธิของพรรคการเมืองและ สว. ที่จะเสนอชื่อบุคคลที่เป็นหรือไม่เป็นสมาชิกรัฐสภาก็ได้ รวมถึงรายชื่อทั้งหมดก็ต้องขอความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาอยู่ดี หากมีการเสนอชื่อบุคคลที่ที่ประชุมเห็นว่าไม่เหมาะสมหรือเห็นว่ารายชื่อทั้งหมดมีสัดส่วนรายชื่อของสมาชิกรัฐสภาที่น้อยเกินไป ที่ประชุมแห่งนี้ก็สามารถลงมติไม่เห็นชอบกับรายชื่อเหล่านั้นได้
พริษฐ์ กล่าวต่อไปว่าส่วนข้อกังวลว่าท้ายที่สุดแล้ว สส. และ สว. ในฐานะสมาชิกรัฐสภาควรจะต้องรับผิดชอบต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีการพิจารณาในรัฐสภา ตนไม่ได้เห็นต่าง และยืนยันว่าร่างแก้ไขข้อบังคับของตนก็ไม่ได้ทำให้ สส. และ สว. มีความรับผิดชอบต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญน้อยลง เพราะไม่ว่ากรรมาธิการจะเป็น สส. สว. หรือบุคคลอื่นที่ถูกเสนอชื่อเข้ามาโดยพรรคการเมืองและ สว. เมื่อพิจารณาร่างในชั้นกรรมาธิการเสร็จแล้ว อย่างไรร่างนั้นต้องถูกเสนอกลับมาที่ประชุมรัฐสภาแห่งนี้ในวาระที่ 2 และ 3 ซึ่ง สส. และ สว. เท่านั้นที่ลงมติได้เหมือนเดิม
จากนั้นรัฐสภาจึงได้มีการลงมติว่าจะรับหลักการร่างแก้ไขข้อบังคับการประชุมรัฐสภาหรือไม่ ซึ่งรัฐสภาได้มีมติเห็นด้วย 415 ไม่เห็นด้วย 185 ผลของการลงมติเห็นสมควรรับหลักการแห่งร่างแก้ไขข้อบังคับการประชุมรัฐสภาดังกล่าว