นายกฯ เปิดงาน “THACCA SPLASH” ประกาศขับเคลื่อน อุตสาหกรรม Soft Power ไทย
นายกฯ เปิดงาน “THACCA SPLASH” – Soft Power Forum 2024 ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม Soft Power 11 สาขา ชูศักยภาพของคน สู่เวทีนานาชาติ “สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้”
วันที่ 28 มิ.ย.67 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ถนนรัชดาภิเษก เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดงาน “THACCA SPLASH” – Soft Power Forum 2024 โดยมี นายภูมิธรรม เวชชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความยินดีที่ได้มาเปิดงาน THACCA SPLASH – SOFT POWER FORUM 2024 ในครั้งนี้ ว่า เป็นความมุ่งมั่นตั้งใจของรัฐบาลที่จะสร้างเวทีการรวมพลังของทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเรือธงของรัฐบาล ปัจจุบันโครงสร้างเศรษฐกิจของเราเติบโตจากภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตรที่มีคนเกี่ยวข้องทำงานอยู่จำนวนมาก เช่น แรงงานในโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ และเกษตรกรทุกท่าน งานในภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้จำนวนไม่น้อยเป็นแรงงานที่ใช้ทักษะต่ำ ซ้ำยังต้องพึ่งพาอาศัยธรรมชาติ ฤดูกาล น้ำฝน น้ำท่วม น้ำแล้ง ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่มีความไม่แน่นอน ยังส่งผลกระทบไปสู่สถานะทางการเงินของครอบครัวและระดับประเทศ แสดงออกมาเป็นปริมาณหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่สูงกว่า 90%
นายกฯ กล่าวว่า โครงสร้างเศรษฐกิจไทยต้องได้รับการ Upgrade จากการใช้แรงงานทักษะต่ำ หันไปใช้มันสมองและความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น โดยเฉพาะในยุคของ Digital Age และงานที่ให้มูลค่ากับฝีมือมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม งานในภาค Digital Age จำนวนไม่น้อยมีความต้องการทักษะขั้นสูง ซึ่งคนจำนวนมากจะต้องใช้ระยะเวลานานในการฝึกฝน เช่น การเขียน Code เป็นต้น รัฐบาลเล็งเห็นการผลักดันยุทธศาสตร์ Soft Power ให้เป็นอุตสาหกรรมที่คนไทยทั้งหมดสามารถมีส่วนร่วมได้ ด้วยศักยภาพของทุกคน ที่มีพื้นฐานทางวัฒนธรรม ฝีมือ และเวทีในการแสดงออก เป้าหมายใหญ่ของเราคือ “สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้” เพื่อให้คนไทยอยู่ดีมีสุข และทำให้เศรษฐกิจของประเทศเจริญก้าวหน้า
นายกฯ กล่าวต่อว่า จุดประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ มุ่งปักหมุดใน 3 สร้าง คือ “สร้างแรงบันดาลใจ ให้ทุกคนตระหนักถึงศักยภาพของตนเอง สร้างเวทีแลกเปลี่ยนระดับนานาชาติเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม Soft Power ของไทยผ่านการเรียนรู้ case study ที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ และสร้างสุดท้าย คือ สร้างการรับรู้ให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางถึงพลัง Soft Powerไทย ให้สื่อสารทุกทิศทางอย่างทรงพลัง เปรียบเสมือนการสาด หรือ SPLASH โดยเราจะเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างครบวงจรตั้งแต่การพัฒนาต้นน้ำยันปลายน้ำ โดยการพัฒนาต้นน้ำ ต้องเริ่มจากการพัฒนาคน ซึ่งรัฐบาลกำลังเดินหน้าโครงการ 1 ครอบครัว 1 Soft Power (OFOS) ที่จะเฟ้นหาศักยภาพของทุกครอบครัว บ่มเพาะและพัฒนากำลังคนในอุตสาหกรรม ยกระดับให้เป็นแรงงานทักษะสูง ขั้นกลางน้ำ จะมีการออกกฎหมายตั้งหน่วยงาน THACCA ซึ่งทำหน้าที่เป็น One-stop Service คอยผลักดันอุตสาหกรรม Soft Power ต่าง ๆ ทั้ง 11 ด้าน เช่น การวิเคราะห์ตลาด สำรวจกฎระเบียบที่อาจจะเป็นอุปสรรค และส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรม การแข่งขันในประเทศ และในขั้นปลายน้ำ THACCA ก็จะเป็นผู้กำหนดแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน ประสานกับต่างประเทศ เพื่อนำ Soft Power ของไทย ไปเผยแพร่ในตลาดให้มากยิ่งขึ้น
นายกฯ ระบุว่า วันนี้ หลาย ๆ คำศัพท์ ทั้ง THACCA และ OFOS หรือแม้กระทั่ง Soft Power อาจมีหลายคำที่ดูจะสลับสับไปมา ขอเชิญทุกท่านที่มาร่วมงานในวันนี้ เดินสำรวจหลาย ๆ ส่วน ไม่ว่าจะเป็นตัว THACCA Pavilion ที่แสดงให้เห็นความสำคัญของ Soft Power ต่อสภาพเศรษฐกิจ ที่จะมายกระดับประเทศไทยให้เป็นประเทศรายได้สูง ซึ่งตัวชี้วัดที่สำคัญก็คือการมีรายได้ต่อหัวประชากรกว่า 13,846 เหรียญสหรัฐต่อปี ตามหลักเกณฑ์ของ IMF ในส่วนของงานก็จะมีการฉายภาพกลไกการขับเคลื่อน และมีการนำเสนอตัวอย่างวิธีการ หรือ HOW TO ในการยกระดับ Soft Power ที่นานาประเทศได้ปฏิบัติ และขอเชิญทุกท่านไปดูตัวอย่างศักยภาพของ Soft Power ไทยที่ถือว่า ประสบความสำเร็จจนได้ไปแสดงในเวทีโลกต่าง ๆ
“รัฐบาลตั้งเป้าผลักดันอุตสาหกรรม Soft Power ทั้ง 11 สาขา โดยนำความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมและเทคโนโลยี มาประยุกต์กับทุนทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และบริการของไทยเรา ตั้งเป้าให้เวทีนี้เปิดกว้างสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม ตอบโจทย์ทุกความสนใจ รวมถึงเป็นเวทีแห่งโอกาสในการแลกเปลี่ยนมุมมองกับผู้ที่ประสบความสำเร็จในวงการอุตสาหกรรม Soft Power ระดับโลก โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเวทีนี้จะมีส่วนส่งเสริมการพัฒนา Soft Power ของไทย” นายกฯ ย้ำ