อนุทิน ลั่นแก้หนี้นอกระบบต้องจบ
• มหาดไทยวางแผน 3 ขั้นตอนแก้หนี้นอกระบบ
• ดึงกรมสรรพากร-ออมสิน-ธ.ก.ส.ปิดจ๊อบ
• ยอดลงทะเบียน 18 วัน พุ่งทะลุ 1 แสนราย
รองนายกฯ “อนุทิน” นั่งหัวโต๊ะถกบอร์ดกำกับการแก้หนี้นอกระบบนัดแรก แจงแนวบูรณาการทำงาน อนุมัติมาตรการแก้ไขปัญหา 3 ด้าน ไกล่เกลี่ย บังคับใช้กฎหมาย และให้ความช่วยเหลือทางการเงิน
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และ โฆษกกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ครั้งที่1/2566 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ1 ทำเนียบรัฐบาล ว่า ครั้งนี้เป็นการประชุมนัดแรกหลังนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ต่อไปนี้ จะต้องร่วมกันศึกษา วิเคราะห์และจัดทำข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเพื่อนำไปสู่การบรรเทาผลกระทบให้ลูกหนี้ ซึ่งต้องแบกรับภาระไม่ว่าจะเป็นการกู้เงินโดยถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา การถูกข่มขู่โดยใช้ความรุนแรงต่อไป
“รองนายกรัฐมนตรีได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงขั้นตอนดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตามแนว นโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ซึ่งจะเป็นการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย ขั้นตอนแรกการลงทะเบียน ดำเนินการระหว่าง 1ธ.ค.66-29 ก.พ.67 มีกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลัก และมีหน่วยงานอื่นเสริมคือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี โดยทั้งหมดเชื่อมโยงข้อมูลกัน โดยประชาชนได้รับหมายเลขอ้างอิง (Reference Number) เพื่อใช้ติดตามความคืบหน้าทางเว็บไซต์ภาครัฐได้ตลอด ขั้นตอนที่ 2 ดำเนินการไกล่เกลี่ยและติดตามผล และ ขั้นตอนที่ 3 การกำหนดระยะเวลาดำเนินการ เป้าหมาย และตัวชี้วัดที่ต้องชัดเจน
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ได้มีวาระเพื่อพิจารณาและและมีมติดังนี้ เห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งมีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานอนุกรรมการ และผู้แทนหน่วยงานเกี่ยวข้องเป็นอนุกรรมการ โดยชุดนี้จะมีอำนาจหน้าที่ในการติดตามผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการช่วยเหลือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่ เชิญหน้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ให้ความเห็น หรือข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
เห็นชอบมาตรการในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ 3 ด้าน ประกอบด้วย 1. ด้านการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ โดยมีกรมการปครองเป็นเจ้าภาพหลัก และมีสำนักงานอัยการสูงสุดร่วมสนับสนุน โดยนับแต่เริ่มปิดลงทะเบียนจนถึง 18 ธ.ค. 66 (เวลา 11.30 น.) ปรากฏว่ามีลูกหนี้มาลงทะเบียนแล้ว 99,484ราย คิดเป็นมูลหนี้ 5,926 ล้านบาท โดยในระหว่างการลงทะเบียนดังกล่าวก็มีการเชิญเจ้าหนี้ลูกหนี้มาทำการไกล่เกลี่ยโดยใช้กลไกของฝ่ายปกครอง บูรณาการร่วมกับตำรวจและพนักงานอัยการ โดยทางเจ้าหนี้-ลูกหนี้สามารถไกล่เกลี่ยกันได้ก็จะมีการทำบันทึกประนีประนอมไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 20 ราย
2.ด้านการบังคับใช้กฎหมาย มีสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ โดยบูรณาการร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครอง เช่น ผู้ว่าราขการจังหวัด นายอำเภอ และมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้ช่วยเหลือซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการดำเนินคดีกับเจ้าหนี้ที่มีพฤติการณ์ใช้กำลังประทุษร้ายลูกหนี้ไปแล้วบางส่วน รวมทั้ง เรียกเจ้าหนี้มาทำความเข้าใจนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอีกด้วย
3.ด้านการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน จะมีกระทรวงการคังเป็นเจ้าภาพ ร่วมกับสถาบันทางการเงินของรัฐในการปล่อยวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เงื่อนไขน้อยและอาจมีระยะเวลาปลอดการชำระคืนเงินต้น และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจะได้เข้ามาช่วยเหลือลูกหนี้ตามสาเหตุแห่งการเป็นหนี้ ตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงาน เช่นกระทรวงแรงงาน กระทรวงกระทรวงมหาดไทยให้การสนับสนุนด้าน การหาอาชีพเสริม สนับสนุนปัจจัยการผลิต
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบตัวชี้วัดการดำเนินการทั้ง 3 ด้าน ประกอบด้วย ตัวชี้วัดการไกล่เกลี่ยของกรมการปกครอง กำหนดการเจรจาไกล่เกลี่ยได้อย่างน้อย 80% ของลูกหนี้ในระบบและเจ้าหนี้ตามฐานข้อมูล โดยสามารถตกลงกันได้ไม่น้อยกว่า 50% ด้านการบังคับใช้กฎหมาย โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สามารถดำเนินคดีได้ทั้งหมด 70% ของเรื่องรับดำเนินการ ระยะเวลาดำเนินการหากเป็นสำนวนไม่ยุ่งยากดำเนินการเสร็จใน 3 เดือน กรณีมีความซับซ็อนไม่เกิน 3 เดือน ส่วนของด้านการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน โดย สศค. ซึ่งจะต้องได้รับการให้สินเชื่อโดยธนาคารออมสินและธ.ก.ส. มีเป้าหมายผู้ได้รับความช่วยเหลือที่ร้อยละ 70 ของผู้ลงทะเบียน
ด้าน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นวันที่ 18 (1-18 ธ.ค.) นับตั้งแต่เปิดลงทะเบียน โดยจากข้อมูลของสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง เมื่อเวลา 15.30 น. มีมูลหนี้รวม 6,085.977 ล้านบาท ประชาชนลงทะเบียนแล้ว 100,467 ราย โดยเป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 88,669 ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 11,798 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 71,202 ราย
สำหรับมีพื้นที่/จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 5 ลำดับแรก 1. กรุงเทพมหานคร ยังคงมากที่สุด มีผู้ลงทะเบียน 6,322 ราย เจ้าหนี้ 5,253 ราย มูลหนี้ 511.824 ล้านบาท 2. จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้ลงทะเบียน 4,323 ราย เจ้าหนี้ 3,504 ราย มูลหนี้ 262.236 ล้านบาท 3. จังหวัดสงขลา มีผู้ลงทะเบียน 3,986 ราย เจ้าหนี้ 2,817 ราย มูลหนี้ 248.398 ล้านบาท 4. จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ลงทะเบียน 3,884 ราย เจ้าหนี้ 2,428 ราย มูลหนี้ 299.260 ล้านบาท 5. จังหวัดขอนแก่น มีผู้ลงทะเบียน 2,610 ราย เจ้าหนี้ 2,070 ราย มูลหนี้ 190.513 ล้านบาท
ขณะที่จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ 1. จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้ลงทะเบียน 133 ราย เจ้าหนี้ 86 ราย มูลหนี้ 5.394 ล้านบาท 2. จังหวัดระนอง มีผู้ลงทะเบียน 207 ราย เจ้าหนี้ 132 ราย มูลหนี้ 15.167 ล้านบาท 3. จังหวัดสมุทรสงคราม มีผู้ลงทะเบียน 267 ราย เจ้าหนี้ 187 ราย มูลหนี้ 8.575 ล้านบาท 4. จังหวัดตราด มีผู้ลงทะเบียน 334 ราย เจ้าหนี้ 200 ราย มูลหนี้ 10.487 ล้านบาท และ 5. จังหวัดสิงห์บุรี มีผู้ลงทะเบียน 364 ราย เจ้าหนี้ 238 ราย มูลหนี้ 13.679 ล้านบาท