“สมศักดิ์” พบ “กฤษฎีกา” ลุย ปรับกฎหมายให้ทันสมัย
“สมศักดิ์” พบ “กฤษฎีกา” ลุย ปรับกฎหมายให้ทันสมัย ขอดึงกฎหมายค้าง 2 ฉบับ”Law of Efficiency-ส่งเสริมปศุสัตว์”มาขับเคลื่อนต่อ
วันที่ 19 กันยายน 2566 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ได้หารือกับ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ถึงแนวทางการทำงาน ที่ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล โดยนายปกรณ์ ได้รายงานกฎหมายที่มีทั้งหมดในประเทศไทยว่า ขณะนี้ เรามีรัฐธรรมนูญ 1 ฉบับ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ พระราชบัญญัติ 910 ฉบับ พระราชกำหนด 39 ฉบับ ประมวลกฎหมาย 8 ฉบับ พระราชกฤษฎีกา 7,288 ฉบับ และกฎกระทรวง 7,382 ฉบับ
จากนั้น นายสมศักดิ์ ได้สอบถามว่า รัฐบาลไม่มีรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย จะต้องเพิ่มอะไรหรือไม่ ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่พบปัญหา และจากที่รองนายกฯ เคยเป็น รมว.ยุติธรรม จึงมองว่า มีความเข้าใจเรื่องกฎหมายเป็นอย่างดีอยู่แล้ว
โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า จากนี้ ก็จะต้องช่วยกันปรับกฎหมายให้มีความทันสมัยมากขึ้น ซึ่งตนก็มีความพร้อม เพราะมีความเข้าใจเรื่องการพัฒนากฎหมายแล้ว เนื่องจากขณะเป็น รมว.ยุติธรรม ก็ได้เป็นผู้ผลักดันกฎหมาย ช่วยเหลือสังคมสำเร็จไปแล้วกว่า 10 ฉบับ เช่น กฎหมายป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ที่เป็นการเฝ้าระวังบุคคลอันตรายไม่ให้กระทำความผิดซ้ำได้อีก ส่วนกฎหมายที่ตนผลักดันค้างไว้ ก็มี 2 เรื่อง ที่อยากให้ช่วยกันขับเคลื่อนต่อ คือ กฎหมาย Law of Efficiency ที่จะทำให้เกิดการร้องเรียนยากขึ้น โดยต้องฟ้องอย่างมีเหตุผล เพื่อทำให้เจ้าหน้าที่กล้าทำงานมากขึ้น ไม่ต้องกลัวถูกร้องเรียนแบบง่ายเหมือนปัจจุบัน และกฎหมายส่งเสริมปศุสัตว์ ที่จะเป็นการช่วยยกระดับเกษตรกร รวมถึงเพิ่มมูลค่าให้กับสัตว์ และสนับสนุนการท่องเที่ยว ซึ่งปัญหาขณะนี้ มีหลายหน่วยงานกระจายกันดู ทั้ง กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลฯ กระทรวงอุตสาหกรรม ดังนั้น ถ้ารวมไว้ที่เดียว ก็จะสามารถบริหารจัดการได้ง่ายขึ้น และสามารถจัดเก็บภาษีเข้ารัฐได้อีก เพราะปัจจุบันกีฬาสัตว์ยังไม่มีการจัดเก็บภาษี โดยเงินที่ได้มา ก็จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการดูแลสังคม เช่น ด้านการศึกษา การดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น
ขณะที่ นายปกรณ์ กล่าวว่า ร่างกฎหมาย 2 ฉบับที่ค้างอยู่ ตนก็จะรับมาพิจารณาต่อ เพราะเข้าใจว่า ตอนนี้ คนไทยนิยมฟ้อง ทำให้เจ้าหน้าที่ ไม่กล้าทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับสังคม เนื่องจากกังวลว่า จะถูกร้องเรียนได้ ซึ่งตนจะมอบหมายให้กฤษฎีกา นำร่างกฎหมายเดิมมาพิจารณา เพื่อขับเคลื่อนต่อ ส่วนกฎหมายส่งเสริมปศุสัตว์ ที่สามารถทำเป็นซอฟพาวเวอร์ได้ ก็จะเข้ามาดูว่า จะสามารถใช้ระเบียบสำนักนายกฯมาช่วยบูรณาการจากหลายหน่วยงาน รวมเป็นหนึ่งเดียวได้หรือไม่ เพราะเรื่องเดียว แต่มีกฎหมายขึ้นตรงกับหลายหน่วยงาน นอกจากนี้ ตนก็พร้อมผลักดันกฎหมายให้มีความทันสมัย ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการอำนวยความสะดวกประชาชน ซึ่งต้องมีทั้ง ปรับปรุงกฎกระทรวง ทำกฎหมายอำนวยความสะดวกทางราชการ เพื่อช่วยลดต้นทุน ลดการทุจริต และช่วยให้ประชาชนเข้าถึงกฎหมายได้ง่ายขึ้น