รัฐบาลพร้อมรับมือน้ำท่วม
รัฐบาลเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของทางน้ำ เร่งสำรวจสิ่งกีดขวางทางน้ำในแม่น้ำท่าจีน รับมือฝนตกหนักช่วงฤดูฝนเดือนสิงหาคมนี้
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามการขับเคลื่อนมาตรการที่ 7 เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของทางน้ำ ตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 ในพื้นที่แม่น้ำท่าจีน ซึ่งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมเจ้าท่า และกรมชลประทาน เดินหน้าขับเคลื่อนอย่างจริงจังตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 ได้มีมติเห็นชอบมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เสนอ เรียบร้อยแล้ว
นางสาวรัชดาฯ กล่าวย้ำถึงมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบว่า ที่ประชุม กนช. ได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดจัดทำแผนปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องอย่างเคร่งครัด เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์อุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่ง กอนช. ได้ติดตามฝนคาดการณ์ระบบ ONEMAP พบว่า ในช่วงเดือนสิงหาคม 2566 นี้ จะมีปริมาณฝนตกเพิ่มมากขึ้น และได้ออกประกาศ กอนช. ฉบับที่ 9/2566 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ช่วงวันที่ 15-20 ก.ค.นี้ ดังนั้น เพื่อเป็นการรับมือสถานการณ์ดังกล่าวให้เป็นไปตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 และนโยบายรัฐบาล กอนช. จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมาเ พื่อติดตามการขับเคลื่อนมาตรการรับมือฤดูฝนในมาตรการที่ 7 เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของทางน้ำ โดยการลงเรือและบินโดรนสำรวจวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำบริเวณแม่น้ำท่าจีน โดยเฉพาะผักตบชวาซึ่งเป็นอุปสรรคในการระบายน้ำในช่วงที่เกิดน้ำหลาก โดยเป็นการชี้เป้าจุดพื้นที่ที่มีวัชพืชสะสม ทั้งในแม่น้ำสายหลักและจุดเชื่อมโยงกับแม่น้ำสายรองด้วย เพื่อนำไปสู่การวางแผนการกำจัดวัชพืชและบริหารจัดการเชิงพื้นที่ได้อย่างตรงจุด ป้องกันปัญหาวัชพืชกีดขวางการระบายของน้ำและบรรเทาปัญหาน้ำล้นตลิ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
“สำหรับความก้าวหน้าผลการกำจัดผักตบชวาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมชลประทาน กรมเจ้าท่า กรุงเทพมหานคร กรมประมง กรมโยธาธิการและผังเมือง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ข้อมูล กอนช. ระบุว่า ปัจจุบันสามารถกำจัดผักตบชวาไปแล้วปริมาณสะสมรวมกว่า 6 ล้านตัน รวมทั้ง รัฐบาลยังได้กำชับ สทนช. และ กอนช. ให้บูรณาการความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมความพร้อมทุกด้านรองรับสถานการณ์อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้น ทั้งการติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด การดำเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝนอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมเป็นประจำ เร่งสำรวจความแข็งแรงของทำนบและพนังกั้นน้ำ เตรียมบุคลากรและเครื่องจักรเครื่องมือให้พร้อม เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนเป็นไปได้อย่างทันท่วงที ตลอดจนเน้นย้ำให้มีการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด” นางสาวรัชดาฯ กล่าว