จิรัฏฐ์ ถาม ศักดิ์สยาม ตอบ 33 ล้าน เปลี่ยนป้ายบางซื่อ
‘จิรัฏฐ์’ จี้ถาม ‘ศักดิ์สยาม’ เปลี่ยนป้ายสถานีกลางบางซื่อ 33 ล้านบาท ทำทำไม แพงเกินไปหรือไม่
วันที่ 5 มกราคม 2566 ที่รัฐสภา นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสดนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กรณีการเปลี่ยนป้ายสถานีกลางบางซื่อ เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ มูลค่ากว่า 33 ล้านบาท โดยตั้งคำถาม 3 ประเด็น ได้แก่ (1) ราคาแพงเกินไปหรือไม่ (2) เพราะอะไรจึงเปลี่ยนชื่อ และ (3) ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ กรณีที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพิ่งแพ้คดีบริษัทยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับจ้าง
นายจิรัฏฐ์ กล่าวว่า ประเด็นแรก ป้ายสถานีกลางบางซื่อปัจจุบันมีอายุ 3 ปี เดิมมีแค่ตัวอักษร แต่ในการปรับปรุงครั้งนี้ จะเพิ่มโลโก้ รฟท. เข้าไปด้วย ซึ่งไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเพิ่ม มีประโยชน์อย่างไร หาก รฟท. ต้องการประหยัดงบประมาณ สามารถเปลี่ยนแค่บางส่วนก็ได้ เช่น เก็บคำว่า ‘สถานีกลาง’ ไว้ แต่เปลี่ยนชื่อ หรือข้อเสนอของพรรคก้าวไกลคือให้ใช้ทั้ง 2 ชื่อคู่กัน เพราะไม่ว่าอย่างไร ประชาชนก็จะเรียกว่าสถานีกลางบางซื่ออยู่ดี จึงขอถามว่า ราคาค่าจ้างการเปลี่ยนป้ายมูลค่า 33 ล้านบาทนั้น เหมาะสมหรือไม่ แพงไปหรือไม่
นายจิรัฏฐ์ กล่าวว่า คำถามของตนสั้นมาก ถามว่าราคา 33 ล้านบาทแพงเกินไปหรือไม่ ประชาชนคิดว่าแพง แต่รัฐมนตรีตอบไม่ตรงคำถาม อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้รัฐมนตรีพุ่งเป้าการตรวจสอบไปที่ รฟท. เพียงอย่างเดียว เพราะปีศาจมักซ่อนอยู่ในรายละเอียด หากย้อนไปเมื่อเดือนมกราคม 2563 ผู้รับเหมาคือบริษัทยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งร่วมกับบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ติดตั้งป้ายสถานีกลางบางซื่อเสร็จสิ้น ต่อมาเมื่อได้รับพระราชทานชื่อใหม่ รัฐมนตรีก็เร่งรีบให้ รฟท. เปลี่ยนป้าย จึงใช้วิธีเฉพาะเจาะจง กำหนดราคากลางเสร็จเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว เมื่อประชาชนเห็นราคาที่สูงก็ตั้งคำถาม รัฐมนตรีจึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ถือเป็นสูตรสำเร็จในการเอาตัวรอด น่าสงสัยว่ารัฐมนตรีไม่รู้มาก่อนเลยหรือว่าอยากได้ชื่อสถานีใหม่ หรือไม่ว่าอย่างไรก็จะเปลี่ยนชื่อให้ได้โดยไม่สนว่าต้องใช้เงินภาษีประชาชนเท่าไร จึงขอตั้งคำถามที่สองต่อว่า ทำไมต้องเปลี่ยนชื่อสถานี
“รัฐมนตรีทราบหรือไม่ ว่ามีป้ายเล็กป้ายน้อยอีกเท่าไรที่ต้องเปลี่ยนชื่อตาม ทั้งหมดต้องใช้เงินเท่าไร พาลจะลำบากไปถึง กทม. ผมคิดว่ารัฐมนตรีใช้เงินมือเติบเกินไป วันนี้ถ้าเอาหน่วยงานราชการของประเทศไทยมาเรียงกัน การรถไฟฯ น่าจะยาจกที่สุด เพราะขาดทุนต่อเนื่องทุกปีเป็นแสนล้าน แต่กลับใช้เงินสุรุ่ยสุร่ายแบบนี้” นายจิรัฏฐ์ กล่าว
นายจิรัฏฐ์ กล่าวว่า ที่รัฐมนตรีคมนาคมบอกว่า การเปลี่ยนชื่อเป็นประเพณีนั้น คือประเพณีอะไร และหากทราบว่าเป็นประเพณี ทำไมจึงทำป้ายถาวรมาก่อน ถ้าหน่วยงานราชการอื่นเอาแบบอย่าง จะต้องใช้เงินภาษีประชาชนอีกเท่าไร นอกจากนี้ อีกเรื่องที่สำคัญ คือเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 รฟท. เพิ่งจะแพ้คดีต่อกิจการร่วมค้า SU ระหว่าง บริษัท ยูนิค กับ บริษัท ซิโนไทย ความเสียหายกว่า 7,500 ล้านบาท เหตุผลหลักที่แพ้คดีในครั้งนั้น ตามที่ปรากฏในสำนวนการฟ้อง คือ รฟท. เอาสถานีกลางบางซื่อที่ยังไม่ได้จ่ายค่าก่อสร้างครบถ้วน ไปทำศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ จนคนงงทั้งประเทศว่าทำไมต้องมาฉีดที่นี่ น่าตั้งคำถามว่าทำแบบนี้เพื่อให้แพ้คดีโดยง่ายหรือไม่และน่าแปลกที่เกิดข้อพิพาทขนาดนั้น วันนี้ดอกเบี้ยก็ยังเดินอยู่ แต่ทำไมถึงยังจัดซื้อจัดจ้างบริษัทยูนิค ความเสียหายที่เกิดขึ้นใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ รวมถึงงานก่อสร้างในอนาคตที่มีกิจการร่วมค้า SU จะมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นอีกหรือไม่ เป็นประเด็นคำถามที่สาม
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตอบว่า สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือเลขที่ นร.0508/ท4784 ลงวันที่ 2 กันยายน 2565 เรื่อง ขอพระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ – ตลิ่งชัน) และสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ – รังสิต) และสถานีกลางบางซื่อ สำนักพระราชวังแจ้งว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟฯ และสถานีกลางบางซื่อดังนี้
– พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ – ตลิ่งชัน) ระยะที่ 1 ว่า “นครวิถี”
– พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ – รังสิต) ระยะที่ 1 ว่า “ธานีรัถยา”
– พระราชทานชื่อสถานีกลางบางซื่อ ว่า “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์”
เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 และเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 70 พรรษา เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565 กระทรวงคมนาคมจึงได้สั่งการให้ รฟท. ติดตั้งป้ายชื่อพระราชทานให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
สำหรับลักษณะป้ายชื่อพระราชทาน “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” บริเวณโดมด้านหน้าสถานีกลางทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก ประกอบด้วย
1) ตัวอักษรภาษาไทย “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” ขนาดสูง 3 เมตร กว้าง 2.6 เมตร หนา 40 เซนติเมตร
2) ตัวอักษรภาษาอังกฤษ “Krung Thep Aphiwat Central Terminal” ขนาดสูง 2.1 เมตร กว้าง 2.2 เมตร หนา 40 เซนติเมตร ผลิตตัวอักษรด้วยอะคริลิกสีขาวนม ยกขอบ และซ่อนไฟด้านหลัง
รฟท. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดร่างขอบเขตของงานและราคากลาง โครงการจัดทำป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 และคำสั่งใหม่ วันที่ 6 ธันวาคม 2565 เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เป็นป้ายขนาดใหญ่ มีความยาวชื่อจำนวนตัวอักษรเพิ่มขึ้นจากเดิม ป้ายอักษรติดตั้งโดยมีเสารับน้ำหนักในตัวอาคาร และเจาะทะลุกระจกยึดตัวอักษรแต่ละตัว
ทั้งนี้ ตามที่มีกระแสข่าวปรากฏในสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ รวมทั้งโซเชียลมีเดีย กระทรวงคมนาคมได้มีคำสั่ง ณ วันที่ 4 มกราคม 2566 แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงการก่อสร้างในโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมี รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง เป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นรองประธานกรรมการ และผู้แทนจากหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย สภาสถาปนิก สภาวิศวกร และกรมบัญชีกลางร่วมเป็นกรรมการ โดยให้มีหน้าที่และอำนาจในการรวบรวมข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องที่เห็นว่าเป็นประโยชน์แก่การตรวจสอบข้อเท็จจริง ในกรณีที่ปรากฏว่า มีข้อเท็จจริงใดที่กล่าวอ้างหรือพาดพิงถึงบุคคล เอกสาร หรือวัตถุใดที่จะเป็นประโยชน์แก่การตรวจสอบข้อเท็จจริงให้คณะกรรมการฯ ทำการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานนั้นไว้ให้ครบถ้วน ถ้าไม่อาจเข้าถึงหรือได้มาซึ่งพยานหลักฐานดังกล่าว ให้บันทึกเหตุนั้นไว้ด้วย รวมถึงให้คณะกรรมการฯ เรียกบุคคลใดมาเป็นพยานเพื่อชี้แจงหรือให้ถ้อยคำตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนดไว้ได้ ตลอดทั้งพิจารณาทำความเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยให้รายงานผลการสอบสวนภายใน 15 วัน