นายกฯ แนะ ประชาชนปรับตัวเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ย้ำ รบ.เร่งแก้น้ำท่วม
พี่น้องประชาชนทุกท่าน ต้องเรียนรู้และปรับตัวกับสิ่งใหม่ๆ ที่ภาครัฐให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องในรูปแบบของโครงการต่างๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาทั้งตนเองและสังคมรอบตัว สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดกลไกการทำงานที่เข้มแข็งในทุกชุมชน
เมื่อวันที่ 27 ก.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แจ้งผ่านเฟซบุ๊กว่า ในระยะนี้ ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันจะลดระดับความรุนแรงลง แต่ก็ยังคงมีฝนกระจายหลายพื้นที่ ส่งผลให้มีมวลน้ำสะสมหลายจังหวัด อาจเกิดน้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมฉับพลันได้ รัฐบาลมีความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก โดยตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกันยายน ได้มีข้อสั่งการต่อกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (ปภ.) ให้จัดทำแผนรับมือน้ำท่วมระดับประเทศ และถ่ายทอดคำสั่งไปยังศูนย์ ปภ. แต่ละจังหวัด ให้จัดกําลังเจ้าหน้าที่ และเครื่องจักรกลสาธารณภัย เช่น เครื่องสูบน้ำ เรือยนต์กู้ภัย เรือท้องแบน รถสูบส่งน้ำระยะไกล รถปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัย และอื่นๆ ให้พร้อมปฏิบัติการได้ทันทีในพื้นที่เสี่ยงภัย ตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยชุดปฏิบัติการจากหน่วยราชการฝ่ายพลเรือน ทหาร ตำรวจ มูลนิธิ รวมถึงอาสาสมัครและประชาชนจิตอาสา เข้าคลี่คลายสถานการณ์
ตลอดจนจัดตั้งโรงครัวพระราชทานจากพระมหากรุณาธิคุณในการประกอบอาหาร การแจกจ่ายถุงยังชีพ เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และหากสถานการณ์มีแนวโน้มไม่ปลอดภัย ทาง ปภ. ของพื้นที่จะอพยพประชาชนไปยังพื้นที่ปลอดภัย หรือศูนย์พักพิง ที่จัดเตรียมไว้อย่างทันท่วงที โดยให้ฝ่ายปกครอง กํานัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายอาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา เข้าดูแลให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเป็นระบบ ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขในการป้องกันโควิด-19 ซึ่งทั้งหมดนี้ รัฐบาลกำลังดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อช่วยเหลือพี่น้องที่ได้รับผลกระทบให้เร็วที่สุด และได้เตรียมแผนป้องกันและรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นกับจังหวัดอื่นๆทางตอนล่างของประเทศ รวมถึงเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลไว้แล้วด้วย
สำหรับผู้ประสบภัย สามารถแจ้งเหตุ และขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และแอปพลิเคชั่น “พ้นภัย” รวมถึงสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง
พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ที่จังหวัดสุโขทัย ซึ่งจังหวัดสุโขทัยเป็นจุดบรรจบลุ่มน้ำยม-น่านตอนล่าง รวมถึงมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ มักจะมีน้ำล้นตลิ่ง และเข้าท่วมขังเป็นเวลานาน เมื่อมีพายุเข้าในครั้งนี้ จึงได้รับผลกระทบสูง ดังนั้น รัฐบาลและกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กนช.) จึงได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมชลประทาน เร่งระบายน้ำจากพื้นที่ตอนบน เข้าพื้นที่ลุ่มต่ำและแม่น้ำยม นอกจากนั้น ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ ผมได้กำชับให้มีการดำเนินการแก้ปัญหาน้ำท่วมในจังหวัดสุโขทัยอย่างยั่งยืนตามแผนงานที่รัฐบาลได้วางไว้แล้ว โดยในระยะสั้น จะเน้นการพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็ก ระยะกลางเน้นการปรับปรุงลำน้ำที่ตื้นเขิน การปรับปรุงคลองระบายน้ำรอบเมืองสุโขทัย ซึ่งต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และสำหรับระยะยาว สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จะขับเคลื่อนการปรับปรุงคลองหกบาท คลองยม-น่าน ให้สามารถระบายน้ำได้ดีขึ้น พัฒนาแก้มลิงทะเลหลวง และแก้มลิงวังทองแดง รวมทั้งการเติมน้ำใต้ดินจากน้ำท่วมขังบริเวณบางระกำ ซึ่งจะทำให้ปัญหาอุทกภัยของจังหวัดสุโขทัยลดน้อยลงในอนาคต โดยรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะกำหนดแผนเผชิญเหตุสำหรับในพื้นที่เสี่ยงภัยจังหวัดอื่นๆ เช่นเดียวกัน
นายกฯ กล่าวว่า สุโขทัยเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์ของประเทศ และเป็นเมืองมรดกโลก เป็นที่ตั้งของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และศรีสัชนาลัย ผมต้องขอขอบคุณชาวสุโขทัย และกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ที่ได้เตรียมการรับมือล่วงหน้า ไม่ให้โบราณสถานสำคัญของชาติ ได้รับผลกระทบในปีนี้ และทุกๆ ปีที่ผ่านมา
นายกฯ กล่าวว่า นอกจากการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว หลักการทำงานที่ผมยึดไว้อยู่เสมอในการบริหารราชการแผ่นดินก็คือ เราต้องคิดถึงการพัฒนาเพื่อวันข้างหน้าคู่ขนานกันไปเสมอ อย่างเช่น เรื่องน้ำท่วม-ฝนแล้ง ย่อมกระทบการทำมาหากินของพี่น้องประชาชนหลากหลายสาขาอาชีพ ซึ่งจำเป็นต้องปรับตัว เช่น พี่น้องเกษตรกรก็จำเป็นต้องมีอาชีพเสริม การแปรรูป การสร้างมูลค่าเพิ่มจากพืชผลทางการเกษตร การค้าออนไลน์ เป็นต้น เพราะสภาพลมฟ้าอากาศในปัจจุบันมีความรุนแรงมากกว่าในอดีต เมื่อเกิดภัยพิบัติครั้งเดียวอาจทำให้หมดตัวได้ ทำให้ชีวิตตกอยู่ในความเสี่ยงที่คาดเดาไม่ได้ รัฐบาลจึงพยายามผลักดันและส่งเสริมเกษตรกรอย่างต่อเนื่องในหลากหลากรูปแบบ ทั้งการปลูกพืชหมุนเวียน การทำเกษตรแปลงใหญ่ เกษตรอินทรีย์ สมาร์ทฟาร์มเมอร์ รวมทั้งนโยบายตลาดนำการผลิต จะได้ไม่มีผลผลิตออกมาซ้ำออกมาล้นตลาดจนราคาตกต่ำ แต่ควรมีการลงทะเบียนปลูกพืชต่างๆ ที่เหมาะสมในเชิงพื้นที่ ทั้งในและนอกเขตชลประทาน เพื่อจะได้บริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมในเชิงปริมาณ เพื่อการเตรียมตลาดภายในและภายนอกประเทศรองรับ
นอกจากนี้ รัฐบาลยังจัดให้มีระบบการลงทะเบียนเกษตรกร ทั้งเพาะปลูก-ประมง-ปศุสัตว์ ซึ่งทำให้การช่วยเหลือของรัฐ ทั้งเรื่องการประกันภัย ประกันราคา เยียวยาภัยพิบัติ มีความสะดวก รวดเร็ว อีกด้วย (การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังมีรายละเอียดตามภาพประกอบ)
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งนี้ คือการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด จากทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และทุกภาคส่วน ผมขอชื่นชมข้าราชการยุคใหม่ที่ทำงานเชิงรุกมากขึ้น ลุกออกไปช่วยเหลือประชาชน ไม่ใช่เพียงรอให้ประชาชนที่เดือดร้อนเข้ามาขอความช่วยเหลือถึงที่ตั้ง นี่คือเกียรติและศักดิ์ศรีของข้าราชการที่แท้จริงที่ผมขอยกย่อง นอกจากนั้น พี่น้องประชาชนทุกท่าน ต้องเรียนรู้และปรับตัวกับสิ่งใหม่ๆ ที่ภาครัฐให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องในรูปแบบของโครงการต่างๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาทั้งตนเองและสังคมรอบตัว สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดกลไกการทำงานที่เข้มแข็งในทุกชุมชน ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วจะสร้างพลังที่ยิ่งใหญ่ให้ประเทศชาติเข้มแข็งขึ้นอย่างแน่นอน จากการประสานพลังของเราทุกคน