เผย 9 เดือน คนไทยแชร์ข่าวปลอมกว่า 20 ล้านคน
“ชัยวุฒิ” รมว.ดีอีเอส เปิดข้อมูลพฤติกรรมมือปล่อยเฟคนิวส์ พบสถิติย้อนหลัง 9 เดือน คนไทยแชร์ข่าวปลอมกว่า 20 ล้านคน และเป็นผู้โพสต์เองกว่า 5 แสนคน หนุนศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม รุกเดินสายจัดกิจกรรมสร้างการรับรู้ฯ ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วไทย ติดอาวุธประชาชนรู้เท่าทันและรับมือข่าวปลอม
16 ก.ค. 64 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธานกล่าวเปิดงาน “การจัดกิจกรรมสร้างการรับรู้ เพื่อรู้เท่าทันและรับมือกับข่าวปลอม” ซึ่งจัดขึ้นที่ จ.เชียงราย โดยเป็นการกล่าวเปิดงานผ่านระบบ Conference แสดงความขอบคุณผู้เข้าร่วมกิจกรรม ได้แก่ นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย คณะผู้บริหารกระทรวงดิจิทัลฯ รวมทั้งหน่วยงานในสังกัด บุคลากรทางการแพทย์และการศึกษา ผู้แทนภาคเอกชน ภาคประชาชน และสื่อมวลชน ซึ่งเป็นเครือข่ายสำคัญในการขับเคลื่อนการทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม
ทั้งนี้ จากผลกระทบของปัญหาข่าวปลอม/ข่าวบิดเบือน (เฟคนิวส์) ที่มีต่อชีวิต ทรัพย์สิน ความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ทั้ง 3 ระลอก ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการจัดการข่าวปลอม เพื่อลดความตื่นตระหนกของประชาชน ประสานงานตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อช่วยให้ประชาชนรับรู้ว่าข่าวไหนจริง ข่าวไหนปลอม และในการแชร์ต่อข่าวปลอมทางโซเชียล อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์
อีกทั้ง นายกรัฐมนตรี ยังได้มีข้อสั่งการให้มีการชี้แจงข้อเท็จจริง ให้ประชาชนรับทราบอย่างรวดเร็วกรณีปัญหาข่าวปลอม/บิดเบือน ในสื่อต่างๆ รวมทั้งสื่อสังคมออนไลน์ ให้ทุกกระทรวงเตรียมดำเนินการเรื่องศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม อาจทำในรูปแบบของกระบวนการทำงานที่สนับสนุนการดำเนินการต่อต้านข่าวปลอม และประสานงานกับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ของดีอีเอส และทุกจังหวัดอาจต้องเตรียมพร้อมในการจัดให้มีศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมจังหวัด เพื่อตรวจสอบข่าวปลอม ข่าวบิดเบือนที่เกี่ยวข้อง และชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบ
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า จากการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงลึกโดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ย้อนหลังไปช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (1 ต.ค. 63 – 30 มิ.ย.64) พบข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการเผยแพร่ข่าวปลอมของคนไทยว่า มีจำนวนผู้โพสต์ข่าวปลอม 587,039 คน และจำนวนผู้แชร์ข่าวปลอม 20,294,635 คน ขณะที่ กลุ่มที่มีพฤติกรรมดังกล่าวมากกว่า 90% อยู่ในช่วงอายุ 18-34 ปี
โดยจากการรับแจ้งเบาะแส และติดตามการสนทนาบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับข่าวปลอม ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีข้อความข่าวที่ต้องคัดกรองทั้งหมด 145,515,605 ข้อความ ข้อความข่าวที่เข้าเกณฑ์ดำเนินการตรวจสอบ 13,165 ข้อความ และพบข้อความข่าวที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 5,010 เรื่อง
“ประชาชนต้องตระหนักว่า ในการแชร์ต่อข่าวปลอมทางโซเชียล อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รวมถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีการประกาศใช้ในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ขณะนี้ ซึ่งการดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้กระทำความผิด เป็นอีกหนึ่งมิติที่กระทรวงดิจิทัลฯ ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เราจึงห่วงใยประชาชนทุกท่านให้รู้เท่าทันภัยจากข่าวปลอม ไม่ตกเป็นเหยื่อ” นายชัยวุฒิกล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง กับการเร่งสร้างภูมิคุ้มกันจากการหลงเชื่อข่าวปลอมข่าวลวง ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน เพื่อรู้เท่าทันและรับมือกับข่าวปลอม ถือเป็นหนี่งในภารกิจหลักกระทรวงฯ ในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีที่ปลอดภัยแก่ประชาชนและสังคม เน้นความรับผิดชอบต่อสังคมในการเผยแพร่และการแชร์ส่งต่อหรือแบ่งปันข้อมูล ตลอดจนจะผลักดันให้เกิดการบรรจุเป็นหลักสูตรการรู้เท่าทันสื่อในโรงเรียน ในการรู้เท่าทันในข่าวปลอมอย่างมีวิจารณญาณ ไตร่ตรองก่อนการแชร์ต่อ