สภา ถก พรก.กู้ 5 แสนล้าน อาคม แจง จำเป็น
อาคม กล่าวว่า รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีมาตรการในการกระตุ้น เยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งประเทศจัดการปัญหาและแก้ไข เพื่อรักษาความปลอดภัยสาธารณะความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศและป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 9 มิ.ย.ที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร มีการอภิปรายพระราชกําหนด (พ.ร.ก.)ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท
นายอาคม เติมพิทยาไพศิฐ รมว.คลัง กล่าวชี้แจงว่า วงเงินกู้ 5 แสนล้านบาท ซึ่งคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่18 พ.ค.ที่ผ่านมา และประกาศใช้เมื่อ 20 พ.ค. ว่าการตรา พ.ร.ก.ดังกล่าวเนื่องจากมีเหตุจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ตามกฎหมายเกี่ยวกับการระบาดของโรคโควิด-19 ที่กระทบต่อคนทั่วโลกและกระทบต่อคนไทยอย่างยิ่งในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามในปีที่ผ่านมาในปีที่ผ่านมารัฐบาลได้เสนอ พ.ร.ก.กู้เงินจำนวน 1 ล้านล้านบาท นำมาอนุมัติใช้ในโครงการเพื่อแก้ไขและฟื้นฟูแล้วจำนวน 298 โครงการเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนอุปกรณ์การแพทย์ ค่าตอบแทน อสม. เยียวยาประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบธุรกิจการสร้างงานเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมการจ้างงานใหม่ สร้างอาชีพมาตรการกระตุ้นการบริโภค อาทิ โครงการคนละครึ่ง เรารักกัน เราเที่ยวด้วยกัน กำลังใจทำให้เหลือกรอบวงเงินกู้ 1.9 หมื่นล้านบาทซึ่งอยู่ระหว่างการเสนอขออนุมัติจากคณะกรรมการกลั่นกรองจำนวน 1.7 หมื่นล้านบาทคงเหลือเงินกู้ปีที่ผ่านมาจำนวนกว่าพันล้านบาทซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำเนินมาตรการในระยะต่อไป ได้
การบรรเทาปัญหาและกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลดำเนินการในปีที่ผ่านมาสามารถบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจหดตัวจากที่ IMF คาดการไว้จากร้อยละ 8 มาอยู่ที่ร้อยละ 6.1 ขณะเดียวกันอ้างถึงระดับหนี้ภาครัฐบาลของโลกที่แต่ละประเทศตัวเลขหนี้ปีนี้สูงกว่าปีที่ผ่านมาขณะที่ประเทศไทยประสบกับการระบาดเป็นกลุ่มก้อนระลอกใหม่ตั้งแต่เดือน ม.ค.64 ทำให้มีผู้ป่วยและเสียชีวิตเพิ่มสูงอย่างรวดเร็วแม้มีการจัดหากระจายวัคซีน แต่ยังมีความเสี่ยงจากการระบาดและการกลายพันธุ์ โดยสภาพัฒฯคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจ อยู่ที่ 1.5-2.5 จำนวนนักท่องเที่ยวจะลดลง รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีมาตรการในการกระตุ้น เยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งประเทศจัดการปัญหาและแก้ไข เพื่อรักษาความปลอดภัยสาธารณะความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศและป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ ส่วนการจะใช้แหล่งเงินด้วยการโอนงบประมาณปี64 ไม่สามารถทำได้ เพราะจำเป็นต้องโอนงบให้แต่ละหน่วยงานในแต่ละไตรมาส ในขณะที่เงินสำรองจ่ายมีไม่เพียงพอการจะทำงบปี 64 เพิ่มเติมไม่สามารถทำได้เนื่องจากการจัดเก็บรายได้มีข้อจำกัดจากสถานการณ์ และหากจะรองบประมาณปี 65 ย่อมไม่ทันต่อการะบาดระลอกใหม่ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเสนอเป็น พ.ร.ก.เป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องยับยั้งและแก้ไขสถานการณ์
วงเงินกู้ดังกล่าวแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับแผนงานและโครงการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ยารักษาโรค วัคซีน และการวิจัย พัฒนาและผลิตวัคซีนภายในประเทศ แก้ไขปัญหาการระบาด ปรับปรุงหน่วยงานของรัฐ สถานพยาบาลสําหรับการบำบัดรักษาผู้ป่วยโควิด-19 และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจำนวน3 หมื่นล้านบาท แผนงานหรือโครงการที่สำหรับช่วยเหลือเยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 3 แสนล้านบาท ช่วยเป็นค่าใช้จ่ายในการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพหรือผู้ประกอบการทุกสาขาอาชีพให้สามารถประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจจ้างงานได้ อย่างต่อเนื่อง และแผนงานหรือโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบภายหลังจากการระบาดจำนวน 1.7แสนล้านบาทเพื่อรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการ และกระตุ้นการลงทุน และการบริโภคในระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ การจัดทำแผนงานและโครงการจะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ก่อนเสนอครม.อนุมัติ รวมทั้งกระทรวงการคลังต้องติดตามงานรายงานผลต่อรัฐสภาหลังสิ้นปีงบประมาณใน60 วันด้วยจึงขอยืนยันการดำเนินงานภายใต้กฎหมายและวินัยการเงินการคลังอย่างรอบคอบ
นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า การใช้เงินกู้ปีที่ผ่านมา 1ล้านล้าน ไม่มีประสิทธิภาพ มีการเบิกจ่ายไปเพียง 713,000 ล้านยังเหลือ เงินกู้ที่ยังไม่ได้ใช้อีก 29,000 ล้าน จึงยังไม่จำป็นต้องกู้เพิ่ม และการกู้เพิ่มครั้งนี้ อาจเกินร้อยละ 60 ของหนี้สาธารณะ ซึ่งไม่เป็นไปตามกำหนดของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และเห็นว่าการใช้งบเงินกู้ปีที่แล้ว มีความล้มเหลว ทั้งด้านสาธารณสุขที่ไม่สามารถแก้ไขการระบาดของโควิด -19 ได้ อุปกรณ์การแพทย์ ยา วัคซีน มีไม่เพียงพอ ขณะที่งบเงินกู้เพื่อเยียวยาฯ กลับใช้ไปในการแจกเงิน สะท้อนความล่าช้าในการเยียวยา และมีการใช้ที่เงินผิดวัตถุประสงค์ในหลายโครงการ ส่วนงบเงินกู้เพื่อฟื้นฟู สังคมและเศรษฐกิจฯ ก็พบว่ารัฐบาลอนุมัติโครงการฟื้นฟูน้อยมาก นอกจากนี้ การใช้งบกลาง รัฐบาลก็นำไปใช้ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ ไม่นำไปจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด 19 และไม่จัดซื้อวัคซีนแก้ไขโรคระบาดในวัวที่จำเป็นเร่งด่วนในขณะนี้ ดังนั้น จึงเห็นว่า รัฐบาลไม่จำเป็นต้องออก พ.ร.ก. เงินกู้ 5 แสนล้าน แต่ควรออกเป็น งบกลางปี จำนวน 5 แสนล้านแทน เพื่อให้สภาสามารถตรวจสอบได้ คุ้มกับเม็ดเงินภาษีของประชาชน
ด้าน นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า เมื่อต้องก่อหนี้ซึ่งมีดอกเบี้ย ต้องตั้งคำถามว่า กู้แล้วประชาชน ประเทศชาติได้อะไรกับการกู้ครั้งนี้ เนื่องจากหากย้อนกลับไปดู พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาพ.ศ. 2563 (พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท) เกิดการบริหารจัดการเม็ดเงินที่ขาดประสิทธิภาพบางโครงการที่จัดทำขึ้นไม่มีคุณภาพ บางโครงการที่จำเป็นเร่งด่วนกลับอนุมัติล่าช้าไม่ทันต่อการให้ความช่วยเหลือประชาชน
นายสาทิตย์ ระบุว่า เมื่อต้องการกู้เงินครั้งนี้ 500,000 ล้านบาท ถือเป็นหนี้ก้อนสุดท้ายก่อนชนเพดานมองว่า วัคซีน เป็นคำตอบสุดท้ายที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศได้ ควรใช้เงินกู้ก้อนนี้จัดซื้อวัคซีน เพื่อจัดสรรและกระจายให้ประชาชนได้อย่างทั่วถึงวางแผนการจัดซื้อวัคซีนในอนาคต ไม่ควรนำไปทำโครงการที่ไร้ประสิทธิภาพ และควรนำไปใช้เรื่องของโรงพยาบาลสนามทั่วประเทศเพื่อดูแลชีวิตของประชาชน ซึ่งเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่แท้จริง ทั้งนี้ขอว่า อย่างเอาการเมืองมาบริหารวัคซีนอย่าใช้การเมืองนำการแพทย์ ต้องให้การแพทย์นำการเมือง ประชาชนต้องได้รับวัคซีนการนักการเมืองต้องฉีดตามหลักระบาดวิทยา