โล่งอก ส.ว.ยืนยัน พรบ.ประชามติ ผ่านชัวร์

กรรมาธิการ คาด พ.ร.บ.ประชามติ ผ่านสภาแน่นอน ทุกฝ่ายเห็นตรงกัน ไม่ขัด-แย้ง รัฐธรรมนูญ
ความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ โดยหลายฝ่ายหวาดหวั่นว่า ส.ว.จะตีตกวาระ 2 หลังจากไม่เห็นด้วยที่กฎหมายฉบับนี้ ให้อำนาจประชาชน เข้าชื่อเสนอจัดทำประชามติได้ โดยเห็นว่าเป็นการก้าวก่ายอำนาจฝ่ายบริหารนั้น
เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่รัฐสภา นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ แถลงความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ภายหลังคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณามาตรา 9 แล้วเสร็จ ว่า ภาพรวมการพิจารณามาตราอื่นๆ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 9 ตามที่ชูศักดิ์ ศิรินิล กรรมาธิการเสียงข้างน้อยเสนอนั้น ทั้งกรรมาธิการเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อย ต่างพิจารณาร่วมกันเป็นอย่างดี มีความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน โดยมีเป้าหมายตรงกันที่ต้องการให้ร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา มีผลบังคับใช้ต่อไป ซึ่งทุกฝ่ายต่างร่วมกันหาทางออก เพื่อลดความขัดแย้ง

นายวันชัย กล่าวว่า กรรมาธิการเห็นตรงกันว่า มาตรา 9 ในร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2560 และการให้อำนาจประชาชนเข้าชื่อเสนอจัดทำประชามติ ยังไม่เป็นการก้าวก่ายอำนาจของฝ่ายบริหาร จึงไม่จำเป็นต้องส่งร่างกฎหมายนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่เห็นควรให้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาทั้งวาระ 2 และ 3 ต่อไป
นายวันชัย กล่าวว่า ขณะนี้กรรมาธิการกำลังพิจารณาจำนวนของประชาชนในการเข้าชื่อเสนอจัดทำประชามติ โดยมีข้อเสนอหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น 1 หมื่นรายชื่อ 5 หมื่นรายชื่อ 1 แสนรายชื่อ และ 2 แสนรายชื่อ นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เป็นผู้ออกหลักเกณฑ์ดังกล่าว
“อย่างไรก็ตาม แม้มาตรา 9 จะกำหนดให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอการจัดทำประชามติได้ และกำหนดให้รัฐสภาเสนอจัดทำประชามติได้ แต่ผู้มีอำนาจตัดสินใจขั้นสุดท้ายคือคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพราะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 166 ให้อำนาจ ครม.จัดทำประชามติ มิเช่นนั้น จะขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งกรรมาธิการต่างเห็นชอบตามนี้”
สำหรับการพิจารณาของกรรมาธิการ คาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกินวันที่ 2 เม.ย. ก่อนเข้าสู่ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันที่ 7 เม.ย.ต่อไป