สรรพสามิตนัดคุยหาพืชปลูกทดแทนยาสูบ 30 พ.ย.นี้
กรมสรรพสามิต แจง 3 ประเด็น ตอบปมตัวแทนชาวไร่ยาสูบ ขอให้ภาครัฐ “เร่งจ่ายเงินชดเชย พ่วงชะลอการขึ้นภาษียาสูบ” ด้าน “โฆษกฯสรรพสามิต” ย้ำ! 30 พ.ย.นี้ นัดถกหน่วยงานเกี่ยวข้อง หาพืชทดแทนช่วยเกษตรกร
โฆษกกรมสรรพสามิต” นายณัฐกร อุเทนสุต ผอ.สำนักแผนภาษี รักษาการที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ชี้แจงกรณี นายประเสริฐ สงวนทรัพย์ รักษาการนายกสมาคมชาวไร่ยาสูบเบอร์เล่ย์ จ.สุโขทัย ขอความเป็นธรรมกรณี สมาคมชาวไร่ยาสูบฯ ได้ส่งหนังสือถึงรัฐบาล ให้ช่วยติดตามทวงถามเรื่องเงินชดเชยและการชะลอการขึ้นภาษีบุหรี่ พร้อมแสดงความเห็นว่า รัฐบาลไม่ได้ดูแลเกษตรกรอย่างเท่าเทียมกัน
ทั้งนี้ ข้อสงสัยที่ว่า รัฐบาลช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกลำไย อ้อย และมันสำปะหลัง โดยใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก แต่ไม่จ่ายเงินชดเชยโควตาของชาวไร่ยาสูบเพียง 160 ล้านบาทนั้น ข้อเท็จจริงคือ ในอดีตที่ผ่านมา รัฐบาลได้ชดเชยชาวไร่ยาสูบในฤดูการผลิต 2561/2562 กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิตได้ขอจัดสรรงบกลางเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 133 ล้านบาท
ซึ่งในฤดูกาลเพาะปลูก 2562/2563 กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาการชดเชยชาวไร่ยาสูบ ในฤดูกาลเพาะปลูกดังกล่าว แต่เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้มาตรการชดเชยดังกล่าวเกิดความล่าช้าออกไป และรัฐบาลได้มีการให้เงินช่วยเหลือเกษตรกรจาก การแพร่ระบาดของโควิด 19 เป็นจำนวนเงิน 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน คิดเป็นจำนวน 15,000 บาทต่อราย
ดังนั้น กรมสรรพสามิตจึงอยู่ระหว่างการศึกษาหาข้อยุติในการปลูกพืชทดแทน และหาข้อสรุป ที่จะเสนอให้มีการเยียวยาต่อเกษตรกรต่อไปในอนาคตอันสั้นนี้
ส่วนกรณีที่ระบุว่า นายกรัฐมนตรีให้เร่งหาพืชทดแทน แต่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ นั้น “โฆษกกรมสรรพสามิต” ย้ำว่า กรมสรรพสามิตจะมีการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการส่งเสริมเกษตรให้เพาะปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนการปลูกยาสูบ ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การยาสูบแห่งประเทศไทย เป็นต้น เข้าร่วมประชุมในวันที่ 30 พ.ย.2563 ที่จะถึงนี้ เพื่อสรุปผลการหาพืชทดแทนการปลูกยาสูบอย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับประเด็นที่ นายประเสริฐ ขอให้ชะลอการขึ้นภาษียาสูบออกไป 2 – 3 ปี จนกว่าจะหาพืชทดแทนที่เหมาะสมได้นั้น ขณะนี้ กรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการปรับโครงสร้างภาษียาสูบ ให้สอดคล้องกับทิศทางการบริโภคยาสูบ และการพัฒนาอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมยาสูบ โดยจะต้องพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบคอบเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศต่อไป.