ปั้น ไทย “ฮับ ฟิวเจอร์ฟู้ด” อาเซียน
สถาบันอาหาร เดินหน้า 3 เป้าใหญ่ ปั้นไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศผู้ส่งออกอาหารโลก ควบคู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก
“อุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมสำคัญใน การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในปี 2562 ไทยมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 1,016,932 ล้านบาท เป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 11 ของโลก และอันดับที่ 2 ในเอเชียรองจากจีน”
สินค้าที่ไทยส่งออกติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ติดอันดับ 1 ได้แก่ ทูน่า มันสำปะหลัง อันดับที่ 2 ได้แก่ ข้าว ไก่ น้ำตาลทราย เป็นต้น
โดยไทยมีส่วนแบ่ง ในตลาดโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 ล่าสุดในปี 2562 มีส่วนแบ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.51 และมีการส่งออกมากกว่านำเข้าถึง 631,415 ล้านบาท
สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย คือ ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ จีน CLMV ญี่ปุ่น และอาเซียน-5 มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 54 ของมูลค่าส่งออกอาหารทั้งหมด
นายปราโมทย์ วิทยาสุข ประธานกรรมการสถาบันอาหาร ได้กล่าวในพิธีเปิดงาน “Sharing Together ก้าวสู่ปีที่ 25 สถาบันอาหาร” พร้อมกับบอกว่า ประเทศไทยยังมีความมั่นคงทางอาหารที่แข็งแกร่ง มีศักยภาพด้านการผลิต ดังจะเห็นได้จากในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ประเทศไทยแทบไม่มีปัญหาการขาดแคลน สินค้าอาหารเลย และต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ตลอดทั้งสายโซ่การผลิต
ขณะที่ นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร บอกว่า ภายใต้แนวคิด 4 ด้าน ประกอบด้วย Trust (Food Safety & Quality) ผ่านการบริการด้านห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ และบริการวิศวกรรมอาหาร Value (Innovation & Technology) ผ่านบริการด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี
Power (Human Resource Development & Training) ผ่านบริการด้านพัฒนา ทักษะแรงงานและเสริมสร้างองค์ความรู้แก่บุคลากร และ Speed Solutions (Business & Marketing) ผ่านบริการด้านสนับสนุน ธุรกิจและการตลาด
ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ อาหารของไทยทุกระดับเข้มแข็ง ตามแผนปฏิบัติการด้าน การพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562 – 2570) และเพื่อให้สอดรับกับทิศทางอุตสาหกรรมอาหารโลกในทศวรรษหน้า ภายใต้วิสัยทัศน์ผลักดันให้ “ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต อาหารอนาคตแห่งอาเซียนควบคู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก” ด้วย 3 เป้าหมายใหญ่ คือ
ไทยต้องติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศผู้ส่งออกอาหารของโลก เป็นประเทศที่มี GDP อุตสาหกรรมอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ต่อปี และเป็นประเทศศูนย์กลางการผลิตอาหารอนาคตของอาเซียน
สถาบันอาหารจึงเดินหน้า ผลักดัน มาตรการ 4 ด้าน คือ 1)สร้างนักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่ โดยการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้พร้อมสำหรับการแข่งขันในสภาพธุรกิจ ที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะระบบ Food Safety เพิ่มผลิตภาพด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี รวมถึงกลุ่ม OEM สำหรับ Start Up
2)สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต โดยจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษา พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารอนาคต ถ่ายทอดเทคโนโลยี แปรรูปสมัยใหม่ 3)สร้างช่องทางตลาดสมัยใหม่ ร่วมมือ กับภาครัฐและเอกชนพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดแก่ธุรกิจอาหาร ผลักดันผู้ประกอบการเข้าสู่ช่องทางตลาดออนไลน์ เชื่อมโยงคู่ค้า ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายธุรกิจ
และ 4)สร้างปัจจัย เอื้อให้ง่ายในการดำเนินธุรกิจ ปรับปรุงกระบวนการสู่ดิจิทัล แพลตฟอร์ม พัฒนาระบบ Big Data ปัญญาประดิษฐ์ ผลักดันการปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อธุรกิจ เผยแพร่ความรู้และพัฒนาทักษะใหม่ เป็นต้น
ส่วนภาพรวมการส่งออกอาหารของไทยในช่วง 9 เดือนแรกปี 2563 นั้น นางอนงค์ บอกว่ามีมูลค่ารวม 753,000 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามคาดว่า ไตรมาสสุดท้ายตลาดโลกจะมีความต้องการสินค้าอาหารสูงขึ้น การส่งออกอาหารของไทยตลอดปี 2563 จึงมีแนวโน้ม ขยายตัวร้อยละ 0.8 โดยมีมูลค่าราว 1,025,000 ล้านบาท