เปลี่ยนเครื่องจักรเป็นทุน ช่วย SME สู้ โควิด!!
เหมือน “ผีซ้ำด้ำพลอย” ในจังหวะที่ เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ก็ยังมาเกิดวิกฤติโควิด-19 ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SME ต้องมา ล้มเจ็บ เลิกกิจการ จำนวนมาเพราะขาดเงินทน
กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม จึงต้องหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME อย่างเร่งด่วน
ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การดำเนินงานจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร และ โครงการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
หลังจาก ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ผ่านมา ได้อนุมติหลักการยกเว้นค่าธรรมเนียมจดทะเบียนเครื่องจักร เป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ประกอบด้วย…
1. ค่าจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร ปกติอัตราจัดเก็บอยู่ที่เครื่องละ 750 บาท แต่ไม่เกิน 12,000 บาท
2. ค่าเครื่องหมายการจดทะเบียน ซึ่งเจ้าพนักงานได้ประทับหรือทำไว้ที่เครื่องจักร อัตราการจัดเก็บค่าธรรมเนียมอยู่ที่เครื่องหมายละ 120 บาท แต่ไม่เกิน 1,200 บาท
3. ค่าคัดสำเนาเอกสารพร้อมด้วยคำรับรองว่าถูกต้อง อัตราจัดเก็บอยู่ที่หน้าละ 10 บาท ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ประมาณการการสูญเสียรายได้จากการยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมครั้งนี้ในรอบ 1 ปี อยู่ที่ประมาณ 2 ล้านบาท
ล่าสุด นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม บอกว่า หลังจาก กรอ.ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ ต.ค.62 – ก.ย.63 (ปีงบประมาณ 2563) พบว่า มีมูลค่าการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร ประมาณ 100,000 ล้านบาท
โดยมีผู้ประกอบการยื่นจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร ทั้งสิ้น 1,157 ราย ในจำนวนนี้คิดเป็นเครื่องจักรที่จดทะเบียน ทั้งสิ้น 6,036 เครื่อง
ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี นำเครื่องจักรมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้กับสถาบันการเงินในระบบคิดเป็นวงเงินจำนองประมาณ 80,000 ล้านบาท
โดยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าร่วมโครงการกว่า 107 ราย จำนวนเครื่องจักร 2,131 เครื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีการลงทุน ในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 600 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาคืนทุนประมาณ 3 ปี
นายสุริยะ บอกอีกว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี จึงได้กำชับให้ กรอ.เร่งดำเนิน ช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
ที่สำคัญโครงการดังกล่าว ยังช่วยลด การเลิกจ้างงาน พยุงภาคอุตสาหกรรมให้ยังสามารถทำหน้าที่ในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
และในปีงบประมาณ 2564 (ต.ค.63-ก.ย.64) กรอ. ก็ยังคงเดินหน้าโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคง แข็งแกร่ง และสามารถเข้าถึงแหล่งเงินในระบบ
เบื้องต้นได้คาดการณ์ว่า จะมีผู้ประกอบการนำเครื่องจักรเข้ามาจดทะเบียนมากกว่า 1,300 ราย และมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี นำเครื่องจักรเข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพมากกว่า 2,200 เครื่อง ช่วยให้ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี มีเงินลงทุนหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น 10-15 %
และที่น่าสนใจไปกว่านี้ ก็คือ…
ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรกับ กรอ. ยังได้รับสิทธิประโยชน์อีก 4 ด้าน คือ 1.สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษจากสถาบันการเงิน 18 แห่ง 2. เงินทุนหมุนเวียน 3.ได้รับการยกเว้นภาษี และ 4.สิทธิประโยชน์อื่น ๆ อาทิ การยื่นคำขอจดทะเบียนผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ที่สะดวก รวดเร็ว ลดเวลาดำเนินการ เป็นต้น
เรียกได้ว่าช่วยเหลือกันทุกด้านเพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่เป็นเสมือน รากฐานที่สำคัญ ในการพัฒนาประเทศสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคง แข็งแกร่ง ต่อไป