ธนารักษ์-ทบ. ผนึกสร้างสวนป่ากลางกรุงฯ 260 ไร่
“บิ๊กป้อม” นำทีมธนารักษ์ เซ็นเอ็มโอยู ทบ. เดินหน้าสร้างส่วนป่า “เบญจกิติ” เฟส 2 และ 3 เนื้อที่เฉียด 260ไร่ มูลค่า 650 ล้านบาท มั่นใจ ทันจัดงาน 12 ส.ค.64 ก่อนสร้างเสร็จจนเปิดใช้บริการเต็มรูปแบบ ก.พ.65 ด้าน “รมช.คลัง” ชี้ ต้องการสืบสานพระราชปณิธานของในหลวง ร.9 และพระราชินีฯ ขณะที่ อธิบดีกรมธนารักษ์ ย้ำ จะเป็นสวนป่าสำหรับคนเมือง เชื่อมโยงวิถีชีวิตและกิจกรรมของคนกรุงเทพฯและนักท่องเที่ยว
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานใน พิธีลงนาม MOU สร้างสวนป่า “เบญจกิติ” ระยะที่ 2-3 จำนวน 259 ไร่ ระหว่าง กรมธนารักษ์ โดย นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีฯ และกองทัพบก โดย พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ.และมี นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง นายภาณุพล รัตนกาญจนภัทร ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย ฯลฯ ร่วมงานฯ เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 26 ต.ค.2563 ณ บริเวณพื้นที่ก่อสร้างโครงการสวนป่า “เบญจกิติ”
นายสันติ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาเป็นสวนสาธารณะที่สำคัญของกรุงเทพฯ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยก่อนหน้าที่ ได้จัดสร้างโครงการฯระยะที่ 1 เนื้อที่ 61 ไร่ ตั้งแต่ปี 2559 และครั้งนี้จะเป็นการดำเนินงานในระยะที่ 2 และ 3 มูลค่าก่อสร้าง 652 ล้านบาท ภายใต้การออกแบบของบริษัท สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด ที่เน้นสืบสานพระราชปณิธานใน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สร้าง “สวนป่าสำหรับคนเมือง”
คาดว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในอีก 2 ปีข้างหน้า โดย ระยะที่ 1 เริ่มก่อสร้าง พ.ย.2563 แล้วเสร็จ มิ.ย.2564 เพื่อจัดงานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวันที่ 12 ส.ค.2564 ส่ว นระยะที่ 2 ทางกองทัพบกจะเข้าไปก่อสร้างในส่วนของอาคารและพิพิธภัณฑ์ต่างๆ คาดว่าจะแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการประชาชนเข้าชมฯราวเดือน ก.พ. 2565
ด้าน นายยุทธนา ระบุว่า โครงการนี้ ได้จัดแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 พื้นที่ คือ พื้นที่ก่อสร้างที่ 1 ช่วง 8 เดือนแรก จะก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย. 2564 เพื่อเฉลิม พระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวันที่ 12 สิงหาคม 2564 และ พื้นที่ก่อสร้างที่ 2 ทางกองทัพบกจะเข้ามาดำเนินการในส่วนงานสวนที่เหลือ คือ งานปรับปรุงอาคารเดิม ให้เป็นอาคารกีฬาและอาคารพิพิธภัณฑ์ให้แล้วเสร็จในเดือน ก.พ. 2565
ทั้งนี้ พื้นที่นี้จะถูกรังสรรค์ให้เป็นสวนป่าสำหรับคนเมือง ที่เชื่อมโยงและเอื้อต่อการเข้ามาทำกิจกรรมและใช้ประโยชน์ในวิถีชีวิตของคนเมือง เป็นแห่งเรียนรู้มีชีวิต ที่สร้างความผูกพันและสำนึกรักในคุณค่าของป่า น้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วมและสำนึกหวงแหนดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ในการออกแบบเน้นให้มีพื้นที่สวนป่ามากที่สุด มีการปลูกต้นไม้ใหญ่ ต้นไม้พุ่ม ไม้คลุมดิน ไม้น้ำ หลากหลายชนิดพันธุ์ มีงานสร้างอัฒจันทน์ ทางเดินลอยฟ้า ทางวิ่ง ทางจักรยาน และทางเดินโดยรอบโครงการ โดยให้มีสิ่งปลูกสร้างที่เหมาะสมและกลมกลืนกับความเป็นสวนสาธารณะในเมือง นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงอาคารเดิม (อาคารโกดังเดิม อาคารพิพิธภัณฑ์ และอาคาร Pavilion) ให้สามารถ ใช้งานได้อย่างสมบูรณ์แบบและตรงตามวัตถุประสงค์ในการจัดสร้างโครงการฯ
อนึ่ง ปี 2534 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้ย้ายโรงงานยาสูบทั้งหมดไปอยู่ส่วนภูมิภาค และให้พัฒนาพื้นที่เดิมของโรงงานยาสูบ เนื้อที่ประมาณ 430 ไร่ เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ โดยให้กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ ต่อมาในปี 2535 รัฐบาลมีโครงการจัดสร้างสวนสาธารณะบริเวณพื้นที่โรงงานยาสูบดังกล่าว เพื่อร่วมโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ และในปี 2537 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ทรงพระราชทานชื่อสวนสาธารณะดังกล่าวว่า “เบญจกิติ” มีการออกแบบสวนสาธารณะ เป็น 2 ส่วน คือ สวนน้ำ (เนื้อที่ 130 ไร่) และ สวนป่า (เนื้อที่ 300 ไร่)
กระทรวงการคลัง โดย กรมธนารักษ์ จึงได้ดำเนินการจัดสร้างสวนสาธารณะตามการส่งมอบพื้นที่ของโรงงานยาสูบแห่งประเทศไทย โดยในปี 2547 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเสด็จเปิดสวนน้ำ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2547 สำหรับสวนป่า “เบญจกิติ” แบ่งเป็น 3 ระยะ โดยที่โรงงานยาสูบแห่งประเทศไทย (ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็นการยาสูบแห่งประเทศไทย) เป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ภายในกรอบวงเงิน 950 ล้านบาท.