คปภ.เร่งดึง 5G มาใช้ในอุตฯประกันภัย
“เลขาฯคปภ.” ชี้! เทคโนโลยี 5G พลิกโฉมอุตสาหกรรมประกันภัยเล็งกระตุ้นการใช้เพื่อยกระดับนวัตกรรมประกันภัยไทย และเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชน
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) ร่วมรับเชิญและกล่าวปาฐกถาหัวข้อ “5G ยกระดับนวัตกรรมประกันภัย คุ้มครองสิทธิประชาชน” ในงานสัมมนา “5G & The Future of Industries” จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับ นิตยสาร SM โดยมี น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ปธ. กมธ.การสื่อสาร (ดีอีเอส) โทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2563 ณ โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพฯ
เลขาธิการ คปภ. ระบุตอนหนึ่งว่า เทคโนโลยี 5G จะมีบทบาทในวิถีชีวิตแบบ New Normal มากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจประกันภัยที่ 5G จะเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นจนถึงการสิ้นสุดกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย โดย 5G จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต้องมีการปรับตัว ตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยและออกกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ลูกค้า ซึ่ง 5G จะช่วยเพิ่มการใช้งานอุปกรณ์ตรวจวัด เช่น sensor และ อุปกรณ์ IoT ต่างๆ ที่มีการรับส่งข้อมูลตลอดเวลา ได้ในปริมาณที่มากขึ้น มีต้นทุนที่ต่ำลงมาก เมื่อมีการรับส่งข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงและความต้องการลักษณะความคุ้มครองของลูกค้าที่รวดเร็วฉับไวให้แก่บริษัทประกันภัยแล้ว การพัฒนารูปแบบความคุ้มครองและเสนอผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เหมาะสมกับความเสี่ยงและความต้องการของลูกค้าก็จะสามารถทําได้อย่างรวดเร็ว หรือเป็นอัตโนมัติมากยิ่งขึ้น
“ในอดีตหากมีลูกค้าที่ต้องการจะเดินทางไปเล่นสกีก็ต้องซื้อกรมธรรม์ประกันภัยเดินทาง และอาจต้องวางแผนการซื้อกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุจากการเล่นสกีตั้งแต่ก่อนเดินทาง แต่เมื่อมีเทคโนโลยี 5G เข้ามาลูกค้าสามารถกรอกข้อมูลและขอทําประกันภัยอุบัติเหตุจากการเล่นสกีได้ที่หน้าลานสกีก่อนเล่นได้เลย หรือ แม้กระทั่ง sensor ที่ลานสกีก็สามารถส่งข้อมูลให้แก่บริษัทประกันภัยทันทีที่ลูกค้าก้าวเท้าเข้าสู่บริเวณเล่นสกีเพื่อเปิดความคุ้มครองส่วนเพิ่มจากกิจกรรมสกีได้โดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ การใช้ระบบ GPS ในการระบุสถานที่ที่ลูกค้าไปเล่นสกีจะช่วยให้บริษัทประกันภัยสามารถตรวจสอบได้ว่าลูกค้าไปเล่นสกีจริง และลานสกีที่ลูกค้าไปเล่นนั้น เคยมีประวัติการเกิดอุบัติเหตุในอดีตมากน้อยเพียงใด พร้อมกับ sensor ที่ฝังอยู่ที่รองเท้าสกีสามารถส่งข้อมูลความเร็วการเคลื่อนที่ทั้งของตนเองและของคนอื่นที่อยู่ในลานสกีพื้นที่เดียวกัน เพื่อใช้ในการคํานวณและปรับอัตราเบี้ยประกันภัยให้เหมาะสมกับความเสี่ยงดังกล่าวในแบบ real-time ได้อีกด้วย” นายสุทธิพล ยกตัวอย่าง และย้ำว่า
เทคโนโลยี 5G จะเข้ามามีส่วนร่วมกับธุรกิจประกันภัย คือ กระบวนการเสนอขายผลิตภัณฑ์หรือบริการด้านประกันภัยให้แก่ลูกค้า ที่ผ่านมาการเสนอขายผลิตภัณฑ์หรือบริการด้านการประกันภัยผ่านตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยก็จะมีคนที่เป็นตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยเดินมาพูดคุยและเสนอขายให้แก่ลูกค้า ต่อมาเมื่อเกิดเหตุการณ์ Covid-19 Disruption การพบเจอหน้ากันกลายเป็นสิ่งที่ต้องทําอย่างระมัดระวังภายใต้มาตรการ Social Distancing ส่งผลให้การเสนอขายผลิตภัณฑ์หรือบริการด้านการประกันภัยผ่านตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยต้องมีการปรับตัวมากขึ้น
การใช้ระบบ teleconference หรือผ่านโปรแกรมแชตแบบเห็นหน้าก็เริ่มเกิดขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะไม่สามารถทําได้อย่างเต็มประสิทธิภาพได้เลย หากขาดเทคโนโลยีเครือข่ายไร้สายที่สามารถตอบสนองการรับส่งข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพจากเทคโนโลยี 5G ที่เข้ามาช่วยเชื่อมต่อผู้คนได้เสมือนจริงมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ในอนาคตหากมาตรฐานการรับส่งข้อมูลมีการพัฒนาขึ้นไปอีก อาจได้เห็นการเสนอขายและการให้บริการผ่านภาพโฮโลแกรมเสมือนอยู่ที่เดียวกันของบุคคลก็เป็นได้ ในขณะเดียวกันเทคโนโลยี 5G จะเข้ามามีส่วนร่วมกับธุรกิจประกันภัยได้ และมีส่วนสําคัญในการช่วยเหลือผู้บริโภคเป็นอย่างยิ่ง คือ เรื่องกระบวนการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน
เช่น เมื่อเกิดเหตุรถชนกัน ลูกค้าอาจไม่มีความจําเป็นต้องรอผู้สํารวจภัยเดินทางมาถ่ายรูป โดยลูกค้าสามารถถ่ายรูปหรือถ่ายวีดีโอ สภาพอุบัติเหตุ และนําส่งให้บริษัทไปประมวลผลพิจารณาเคลมได้ทันที รวมทั้งยังให้ประโยชน์ในด้านการคุ้มครองสิทธิประชานได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความไม่เข้าใจระหว่างผู้เอาประกันภัยและบริษัทประกันภัย เพราะหากมีข้อเท็จจริงที่เพิ่มมากขึ้น ก็จะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และสามารถแก้ไขปัญหาข้อพิพาทต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ เทคโนโลยี 5G ยังเปิดโอกาสให้ผู้เอาประกันภัยสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในระบบประกันภัย ผ่านรูปแบบพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้เอาประกันภัย ซึ่งระบบ 5G จะทําให้อุปกรณ์และเซ็นเซอร์อัจฉริยะต่างๆ เชื่อมต่อเข้าด้วยกันได้เป็นจํานวนมหาศาล ส่งผลทําให้อุปกรณ์ IoT (Internet of Things) เติบโตอย่างก้าวกระโดด เช่น การใช้ wearable device ต่างๆ เข้ามาช่วยในการเก็บพฤติกรรมข้อมูลการใช้ชีวิตของผู้เอาประกันภัย เพื่อบันทึกพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้เอาประกันภัยว่า มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพหรือไม่ และบริษัทก็อาจให้ผลประโยชน์ในด้านการลดเบี้ยประกันภัยหรือสิทธิประโยชน์บางอย่างเป็นการตอบแทน
เลขาธิการ คปภ. กล่าวอีกว่า สํานักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกํากับดูแลธุรกิจประกันภัยก็มีความจำเป็นที่ต้องปรับตัวเพื่อให้ก้าวทันพัฒนาการของภาคธุรกิจและเทคโนโลยีด้วยเช่นเดียวกัน โดยสํานักงาน คปภ. ได้เล็งเห็นความสําคัญในเรื่องของการบริหารจัดการข้อมูลต่างๆ ภายในธุรกิจประกันภัย จึงได้ดำเนินโครงการฐานข้อมูลกลางด้านการประกันวินาศภัย (Non-Life Insurance Bureau System) และกําลังขยายผลสู่ข้อมูลด้านประกันชีวิต (Life Insurance Bureau System) ซึ่งโครงการทั้งสองจะทําให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลกลางด้านการประกันภัย เพื่อประโยชน์ทั้งด้านการกํากับดูแล ด้านการบริการ คุ้มครองสิทธิประชาชน และประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัย
“เทคโนโลยี 5G จะทําให้การรับส่งข้อมูลขนาดใหญ่ทําได้รวดเร็ว การเชื่อมต่อข้อมูลปริมาณมหาศาลด้วยอัตราการตอบสนองที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นข้อดีสำหรับธรุกิจประกันภัยที่สามารถเข้าใจในพฤติกรรมและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นทําให้ผลิตภัณฑ์ประกันในอนาคตมีความเหมาะสมต่อรูปแบบการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคลมากขึ้น ผู้ที่มีความเสี่ยงน้อยก็จะจ่ายเบี้ยประกันในอัตราที่เหมาะสมมากขึ้น รวมทั้งการได้รับการบริการจากภาคธุรกิจก็จะสะดวกสบายยิ่งขึ้น เพราะเทคโนโลยี 5G จะสนับสนุนให้มีเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วยดูแลความปลอดภัยและลดความเสี่ยงเพิ่มขึ้นได้อีกมากมาย ประกอบกับสภาวะ Covid-19 Disruption ที่ต้องมีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงทั้งในรูปแบบการดํารงชีวิตและการประกอบธุรกิจเพื่อให้รองรับกับวิถีชีวิตแบบ New Normal ซึ่ง สำนักงาน คปภ. และศูนย์ CIT (Center of InsurTech, Thailand) ของสำนักงาน คปภ. จะเร่งส่งเสริมให้ธุรกิจประกันภัยนำเทคโนโลยี 5 G มาใช้เพื่อสร้างโอกาสและส่งเสริมให้เกิดการยกระดับนวัตกรรมประกันภัยเพื่อให้ประชาชนทุกคนได้รับความคุ้มครองจากระบบประกันภัยอย่างเป็นธรรมและทั่วถึงยิ่งขึ้น” เลขาธิการ คปภ. กล่าวสรุป.