SME ต้องการให้รัฐขยายพักหนี้อีก 6 เดือน
สสว.เผย ผลสำรวจสภาพคล่องธุรกิจ SME ร้อยละ78.9 ต้องการให้รัฐขยายมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย อีก 6 เดือน เพื่อบรรเท่าความเดือนร้อนจากสถานการณ์โควิด19
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยผลการสำรวจ สภาพคล่องธุรกิจ SME และสถานการณ์การจ้างงาน ภายหลังวิกฤตโควิด-19 พบว่า ธุรกิจ SME ส่วนใหญ่ยังไม่มีการกู้ยืม จำนวน 1,434 ราย คิดเป็นร้อยละ 55.5 และธุรกิจ SME ที่มีการกู้ยืมเงิน จำนวน 1,148 ราย คิดเป็นร้อยละ 44.5 ซึ่งแหล่งกู้ยืมเงินของเอสเอ็มอีส่วนใหญ่กู้ยืมเงิน จากสถาบันการเงิน คิดเป็นร้อยละ 87.8 และกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินกู้นอกระบบสถาบันการเงิน คิดเป็นร้อยละ 12.2
สำหรับสถาบันการเงินที่ธุรกิจ SME เลือกกู้ยืมเงินมากที่สุดคือ ธนาคาร ร้อยละ 63.2 และรองลงมา คือ ไฟแนนซ์/ลิสซิ่ง ร้อยละ 12.3 และบัตรเครดิตหรือ บัตรกดเงินสด ร้อยละ 5.5 ในส่วนแหล่งเงินกู้นอกระบบสถาบันการเงิน พบว่าธุรกิจมีการกู้ยืมจากเพื่อน/ญาติพี่น้องมากที่สุด ร้อยละ 7.3 รองลงมา คือ การกู้ยืมจากกองแชร์ คิดเป็นร้อยละ 3.0 การกู้ยืมจากนายทุนเงินกู้ ร้อยละ 1.6
ส่วน มาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย SME ส่วนใหญ่ อยากให้มีการขยายระยะเวลามาตรการต่อไป ร้อยละ 78.9 และผู้ประกอบการ SME ที่มองว่า ยังไม่ควรขยายระยะเวลามาตรการ ร้อยละ 21.1 ทั้งนี้ผู้ประกอบการ SME มีความเห็นว่าควรขยายระยะเวลาต่อจากมาตรการเดิมมองว่าควรจะขยายเป็นระยะเวลาเท่าไร พบว่า ผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่าควรขยายเวลาต่อจากเดิมไม่เกิน 6 เดือน ร้อยละ 48.1 รองลงมา คือ ควรขยายเวลาจากเดิมไม่เกิน 3 เดือน ร้อยละ 26.7 และลำดับอื่นๆ ซึ่งจากความคิดเห็นทั้งหมดของผู้ประกอบการ SME พบว่าระยะเวลาเฉลี่ยที่ควรขยายระยะเวลาของมาตรการต่อจากเดิม คือ 4.7 เดือน
ประเภทเงินกู้ที่ผู้ประกอบการต้องการให้ขยายระยะเวลามากที่สุด คือ สินเชื่อธุรกิจ ร้อยละ 39.8 รองลงมา คือ สินเชื่อส่วนบุคคล ร้อยละ 23.6 สินเชื่อรถยนต์ คร้อยละ 11.1 สินเชื่อบ้าน ร้อยละ 8.7 วงเงินกู้ประจำร้อยละ 7.4 สินเชื่อบัตรเครดิต ร้อยละ 6.1
สำหรับมาตรการช่วยเหลือการกู้ยืมเงินเพื่อใช้ในกิจการ ที่ตรงตามความต้องการของธุรกิจมากที่สุด คือ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 59.6 รองลงมา คือ การกู้โดยไม่ต้องมีหลักค้ำประกัน คิดเป็นร้อยละ 31.2 วงเงินกู้ประจำ ร้อยละ 4.3 และการเบิกเงินเกินบัญชี ร้อยละ 3.9%
ส่วนวงเงินกู้สินเชื่อที่ธุรกิจต้องการจากมาตรการของภาครัฐ อยู่ในช่วง 1,000 – 50,000 บาท ร้อยละ 40.3 รองลงมาคือวงเงินกู้ในช่วง 100,001 – 500,000 ร้อยละ 19.2 และวงเงินกู้ในช่วง 50,001 – 100,000 ร้อยละ 18.6 ส่วนระยะเวลาสินเชื่อที่ต้องการมากที่สุดคืออยู่ในช่วงที่ไม่เกิน 6 เดือน คิดเป็นร้อยละ 26.0 รองลงมาคืออยู่ในช่วงที่ไม่เกิน 12 เดือน คิดเป็นร้อยละ 25.6 อยู่ในช่วงไม่เกิน 3 เดือน คิดเป็นร้อยละ 15.8 และอยู่ในช่วงไม่เกิน 24 เดือน คิดเป็นร้อยละ 15
นายวีระพงศ์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนประเด็นด้านแรงงาน หลังโควิด-19 พบว่า กิจการส่วนใหญ่ ร้อยละ 84.6 ไม่ลดแรงงานและลดค่าจ้าง ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีที่ทำให้ลดความกังวลใจต่อปัญหาการว่างงานลงได้มาก เพราะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นกลุ่มสำคัญในการจ้างแรงงานของประเทศที่มีจำนวนการจ้างงานเกือบ 14 ล้านคน