กสอ.แนะ SME เจาะตลาดผลิตภัณฑ์เด็กโตต่อเนื่อง
กสอ.ระบุ อุตสาหกรรมสิ่งทอ -อาหาร กลุ่มผลิตภัณฑ์เด็ก โตต่อเนื่อง แนะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี พัฒนาผลิตภัณฑ์เจาะตลาดทั่วโลก
นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) ระบุว่า อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ “ผลิตภัณฑ์แม่และเด็ก” อาทิ อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมอาหาร และ อุตสาหกรรมสิ่งทอ มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพราะพ่อแม่ในยุคปัจจุบันมีงบประมาณที่ใช้เลี้ยงดูลูกเพิ่มมากขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์มูลค่าตลาดอยู่ที่ 40,300 ล้านบาทในปี 2562 และยังคงมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องแม้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นโอกาสทองสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในการพัฒนาขีดความสามารถเพื่อการเข้าถึงส่วนแบ่งทางการตลาด
สำหรับแนวโน้มของอุตสาหกรรมที่มีโอกาสครอบครองมูลค่าตลาด คือ อุตสาหกรรมสิ่งทอ ในกลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก ที่มีการแข่งขันในเชิงการออกแบบ รวมทั้งมีการพัฒนารูปแบบที่หลากหลายเช่นเดียวกับเสื้อผ้าของผู้ใหญ่ จึงกระตุ้นความต้องการซื้อจากพ่อแม่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมี อุตสาหกรรมอาหาร ในกลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย จึงถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับเด็ก ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของอาหาร ความสะดวกในการประกอบอาหารที่ต้องสอดรับวิถีชีวิตคนเมือง และกลุ่มอาหารพิเศษสำหรับเด็กที่แพ้สารอาหารบางชนิด อาทิ โปรตีนในนมวัว กลูเตน โปรตีนเวย์เคซีน
นายณัฐพล กล่าวต่อว่า บริษัท เอ ลิทเทิล ลัลลาบาย จำกัด ถือเป็นตัวอย่างของอุตสาหกรรมในกลุ่มสิ่งทอ ที่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากให้ความสำคัญกับการศึกษาแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จึงถือเป็น เอสเอ็มอีดีพร้อม ที่สามารถเจาะตลาดผลิตภัณฑ์แม่และเด็กได้อย่างมีศักยภาพ โดยได้รับการสนับสนุนจาก กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าจากใยไผ่ที่นอกจากความนุ่มพิเศษของเนื้อผ้าแล้ว ยังปลอดภัยต่อผิวของทารก และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้ชื่อสินค้า “แนปปี้ เบบี้” ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ครอบคลุมของใช้จำเป็นสำหรับเด็กอ่อน จนถึง 5 ปี อาทิ ผ้าอ้อมสาลูใยไผ่ ผ้าห่อตัวสาลูใยไผ่ ผ้าห่มใยไผ่ เครื่องนอนใยไผ่ และ ชุดเด็กใยไผ่ เป็นต้น
ด้านนางเณริศา อิศรางกูร ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ ลิทเทิล ลัลลาบาย จำกัด เปิดเผยว่า ภายหลังการเข้าร่วมโครงการเพิ่มศักยภาพ SMEs ด้วยระบบเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้บริษัทฯ เข้าใจในกระบวนการสร้างแบรนด์ดิ้งที่ชัดเจนมากขึ้น ทั้งการสร้างเนื้อหาจนถึงการเลือกใช้เครื่องและช่องทางที่เหมาะสมในการสื่อสารไปยังลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย
ตลอดจนช่วยให้เกิดการบริหารจัดการกระบวนการทำงานที่เป็นระบบ ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ จากการทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ เช่น ลาว เวียดนาม บรูไน ฟิลิปปินส์ อเมริกา และเตรียมขยายเพิ่มอีก 6 ประเทศ ซึ่งคาดการณ์ว่าสิ้นปี 2563 จะเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 100