ปลุกกองทุนหมู่บ้านฯทั่วไทยทำการค้า
“รักษ์พงษ์” ปลุก! กองทุนหมู่บ้านฯทั่วไทย ลุกขึ้นมาทำการค้า เหตุเพราะเป็นนิติบุคคล ดำเนินธุรกิจได้ทันที! เผย สบท.ปูทางสร้างองค์ประกอบเกือบครบแล้ว ตั้งแต่ “สร้างการค้า – ส่งเสริมท่องเที่ยวชุมชนฯ – สร้างตลาดออนไลน์ – สร้างระบบขนส่งชุมชนฯ” ด้าน “อธิบดีกรมธนารักษ์” ยัน! พร้อมหนุนกองทุนหมู่บ้านฯ ใช้พื้นที่ราชพัสดุ สร้างรายได้และพัฒนาอาชีพยั่งยืน
จัดเป็นงานใหญ่ของเครือข่ายกองทุนหมู่ในภาคกลาง สำหรับ “จัดกิจกรรมส่งเสริมอาชีพสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองเพื่อเพิ่มรายได้และการพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืน” ที่ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) จัดขึ้น ณ ต.ย่านยาว อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี เมื่อช่วงสายวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา
งานนี้…นอกจาก ตัวแทนจากเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านจากภาคกลางมากถึง 29 จ. เดินทางมาร่วมประชุม ศึกษาดูงาน และรับฟังนโยบายจาก นายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ ผอ.สทบ. แล้ว ยังได้เชิญ นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ เข้าร่วมในงานนี้ด้วย
นายรักษ์พงษ์ กล่าวว่า กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองถือเป็นนิติบุคคล ที่ผู้บริหารกองทุนฯสามารถจะลุกขึ้นมาดำเนินกิจกรรมในทางธุรกิจ ในลักษณะ “บริษัทจำกัดประจำหมู่บ้าน” โดยไม่จำเป็นต้องรอ หรือพึ่งพิงรัฐบาลอีกต่อไป ที่ผ่านมา สทบ.ได้ดำเนินโครงการตั้งแต่ การแลกเปลี่ยนและซื้อขายสินค้า ทั้งภายในสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯที่อยู่ในต่างจังหวัดและต่างภาค รวมถึงดึงคนนอก ทั้งภาครัฐและเอกชนมาซื้อสินค้าของกองทุนหมู่บ้านฯ
จากนั้น ได้จัดตั้ง “ตลาด กทบ.” ผ่านแอปพลิเคชั่น LINE เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการซื้อขายและแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกองทุนหมู่บ้านฯ และกับคนภายนอก เป้าหมายเพื่อยกระดับสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯก้าวสู่ความเป็น “เศรษฐี (กองทุน) หมู่บ้าน” หากสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ จะใช้จ่ายเงินเพื่อการซื้อสินค้าและบริการกันเอง
ตามมาด้วย…ความร่วมมือกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)ต่อยอดการค้าออนไลน์ ด้วยการจัดทำ ไลน์ “ตลาด กทบ สสว.” ที่เน้นการพัฒนาสินค้าของกองทุนหมู่บ้นฯ นำสู่การสร้างระบบการขายสินค้าจากกองทุนหมู่บ้านฯให้กับสมาชิกผู้ประกอบเอสเอ็มอีของ สสว.กว่า 3 แสนรายในช่วงแรก และจะเพิ่มเป็น 1 ล้านรายในเวลาไม่เกิน 1 ปี ตั้งเป้า…สร้างรายได้ให้กองทุนหมู่บ้านฯ แต่ละแห่ง…ปีละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน สทบ.ก็เดินเครื่องโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนโดยกองทุนหมู่บ้านฯด้วยเหตุที่…การท่องเที่ยว นำมาซึ่งการจ้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และยังดึงคนนอกพื้นที่มาจับจ่ายใช้สอยเงินในชุมชน ทำให้สินค้าและบริการของกองทุนหมู่บ้านฯนั้นๆ จำหน่ายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ
มากกว่านั้น คือ การที่ สทบ.ได้เปิดตัวโครงการขนส่งชุมชน ผ่านแอปฯ “คิวหมู่บ้าน”วัตถุประสงค์เพื่อสร้างระบบการขนส่ง ทั้งขนส่งสินค้าและขนส่งคน ภายในจังหวัดและต่างจังหวัด ที่สำคัญยังช่วยให้การสั่งซื้อสินค้าจากกองทุนหมู่ฯ เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ “สั่งซื้อ-พร้อมส่ง” ไปทั่วประเทศ โดยมีระบบขนส่งสาธารณะอย่าง บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เข้ามาเติมเต็มระบบขนส่งต่อเนื่องจาก “คิวหมู่บ้าน”
“ผมอยากให้ ผู้บริหารกองทุนหมู่บ้านฯและสมาชิกฯทุกแห่ง ลุกขึ้นมาทำธุรกิจโดยไม่ต้องรอภาครัฐ สามารถทำได้เลยเพราะกองทุนหมู่บ้านฯเป็นนิติบุคคล จัดตั้งถูกต้องตามกฎหมาย ที่สำคัญเรามีระบบการเงินที่เข้มแข็ง ผ่านการรับฝากและปล่อยสินเชื่อให้กับสมาชิกฯ และ สทบ.ยังได้จัดทำโครงการต่างๆ สร้างความเชื่อมโยงในการดำเนินธุรกิจไว้แล้ว ถ้าพวกเราจะลุกขึ้นมาดำเนินกิจกรรมในการส่งเสริมอาชีพให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อเพิ่มรายได้และการพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืน เชื่อว่าเป้าหมายจะสร้างเศรษฐกิจ (กองทุน) หมู่บ้าน คงจะอยู่ไม่ไกล” นายรักษ์พงษ์ ระบุ
ผอ.สทบ. กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพกองทุนหมู่บ้านฯโดยจัดสรรงบประมาณตามโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองทั่วประเทศ ทำให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองได้มีโอกาสพัฒนากิจกรรมภายใต้กลไกของรัฐบาล ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนในหมู่บ้านและชุมชนให้ดีขึ้น เกิดผลิตภัณฑ์จากครัวเรือนในชุมชน และเกิดกิจกรรมการบริการรูปแบบต่างๆ เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในหมู่บ้านและชุมชนมากยิ่งขึ้น
การจัดกิจกรรมส่งเสริมอาชีพสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองเพื่อเพิ่มรายได้และการพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืน เป็นนโยบายของสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ที่เน้นการเสริมสร้างรายได้ ลดรายจ่ายให้กับพี่น้องกองทุนหมู่บ้านฯ ซึ่งจะส่งผลไปถึงคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดีนั้น เบื้องต้นต้องมีการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ชุมชน ให้บุคคลทั่วไปรู้จัก ได้เห็นถึงอัตลักษณ์ของชุมชนนั้นๆ จึงเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนและเศรษฐกิจภายในประเทศให้กลับมาฟื้นตัว และทำให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
ด้าน นายยุทธนา ระบุว่า กรมธนารักษ์ ในฐานะเจ้าของพื้นที่ดินราชพัสดุ แปลงหมายเลขทะเบียน อสพ.52 ซึ่งได้ให้สมาคมส่งเสริมอาชีพการเกษตรสุพรร เช่าเป็นที่ตั้งของสมาคมฯ และจัดกิจกรรมส่งเสริมอาชีพสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ พร้อมให้การสนับสนุนกองทุนหมู่บ้านฯและชาวบ้านในพื้นที่ ได้ใช้ที่ดินราชพัสดุในการเพิ่มรายได้และพัฒนาอาชีพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กรมธนารักษ์ ได้ดำเนินกิจกรรมเปลี่ยนชุมชนให้เป็นห้องประชุมในที่ดินราชพัสดุ พร้อมกับส่งเสริมให้ชุมชนในบริเวณใกล้เคียงได้มีสถานที่ในการจำหน่ายสินค้า สอดรับกับแนวทางของ สทบ.อยู่แล้ว
“กรมธนารักษ์ จะสนับสนุนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายสินค้า และเป็นทางเลือกให้กับประชาชนได้เข้าถึงสินค้าในราคายุติธรรม และสร้างกลไกในการพัฒนาชุมชนให้เข็มแข็งตลอดไป” อธิบดีกรมธนารักษ์ ย้ำ
สำหรับการจัดกิจกรรมส่งเสริมอาชีพสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองเพื่อเพิ่มรายได้และการพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืนในครั้งนี้ ยังได้รับเกียรติจาก นายนพฤทธิ์ ศิริโกศล รอง ผจว.สุพรรณบุรี นายจิรศักดิ์ ชำนาญภักดี นายอำเภอสามชุก และแขกมีผู้เกียรติ์ของ จ.สุพรรณบุรี เข้าร่วมงานฯ โดยมี นายสุเนตร วังกรานต์ ประธานเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองระดับจังหวัดสุพรรณบุรี คอยให้การต้อนรับ
ทั้งนี้ นายสุเนตร กล่าวว่า กองทุนหมู่บ้านฯในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี มีมากถึง 1,034 กองทุน ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลนับแต่ปี 2536 รวมแล้วกว่า 2,432 ล้านบาท และที่ผ่านมา กองทุนหมู่บ้านฯใน จ.สุพรรณบุรี ยังได้รับเงินสนับสนุนในโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โครงการละ 200,000 บาทแล้ว 981 กองทุนฯ หรือราว 97% คิดเป็นเงิน 174 ล้านบาท.