รัฐสั่ง “หันหัวเรือไทย” สู่เศรษฐกิจฐานรากยั่งยืน
“สมคิด” หันเหหัวเรือประเทศไทย เน้นฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศ ยึดเศรษฐกิจพอเพียง เผย! รัฐบาลพร้อมอัดเงินกว่า 3 แสนล้านบาท ผ่าน ธ.ก.ส.เสริมความแกร่งเศรษฐกิจฐานราก แยกหนุนตรงกว่า 5 หมื่นล้านบาท อัดผ่านสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน อีก 2.6 แสนล้าน เร่งฟื้นฟูอาชีพและรายได้หลังวิกฤติโควิดฯ ตั้งเป้าช่วยเกษตรกร 3 แสนราย ควบคู่เร่งสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่คืนสู่ชนบท 2 แสนราย พร้อมหนุนวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการเกษตร สหกรณ์ และสถาบันเกษตรกร สร้าง “หัวขบวนขับเคลื่อนธุรกิจชุมชน” พ่วงจัดแข่ง “ฮักบ้านเกิด” ดันนิวเจนสร้างธุรกิจชุมชนยั่งยืน
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดโครงการเศรษฐกิจพอเพียงสร้างไทยและโครงการ New Gen Hug บ้านเกิด และ นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ร่วมปาฐกถาพิเศษ “การฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย หลัง COVID-19” พร้อมมอบนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่ความแข็งแกร่ง โดยมี นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผจก.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นายถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธาน คณะกรรมการบริหาร บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด พร้อมด้วยเกษตรกรรุ่นใหม่ ผู้บริหาร พนักงาน ธ.ก.ส. และดารานักแสดงจากสถานีโทรทัศน์ช่อง ONE 31 เข้าร่วมงานฯ เมื่อช่วงเช้าวันที่ 24 มิ.ย.2563 ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมคอนราด แบงคอก ถนนวิทยุ กรุงเทพฯ
นายสมคิด ย้ำว่า รัฐบาลจำเป็นต้องผ่อนคลายอย่างระมัดระวัง แม้ปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จะคลี่คลายแล้วก็ตาม ดังนั้น จึงเน้นทุ่มเทการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศ ทำการเปลี่ยนแปลงผ่านโครงการเศรษฐกิจพอเพียงสร้างไทย หลังจากที่ผ่านมาเน้นส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติและเร่งพัฒนาการส่งออก แต่จากนี้คงต้องหันมาพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ หลังจากมีคนไทยหลายล้านคน ย้ายกลับไปอยู่ในต่างจังหวัดช่ วงที่ตกงานเพราะไวรัสโควิด
ทั้งนี้ รัฐบาลเน้นช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ ให้มีอาชีพและไม่ต้องกลับมาอยู่ในเมือง จึงดึงหน่วยงานรัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา มาร่วมช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ เมื่อพึ่งพาเศรษฐกิจโลกไม่ได้ นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่เข้ามา การผลิตในประเทศมีปัญหา จึงต้องใช้จังหวะนี้ พัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาค อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลจำเป็นต้องปรับคณะรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นคนเดิมหรือคนใหม่เข้ามาแทน ก็ต้องสานต่อนโยบายนี้ หากทำไม่ได้ ไม่ต้องมาเป็น เพราะขณะนี้ไม่ใช่ปัญหาการเมือง แต่เป็นปัญหาทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไข
“เมื่อทุกฝ่ายพร้อมช่วยเหลือ จำเป็นต้องร่วมกันสร้างหัวขบวน มอบหมายให้ ธ.ก.ส.สร้าง “สมาร์ท ฟาร์มเมอร์” ขึ้นมา 10,000-20,000 ราย เพื่อชักชวนคนในชุมชนเรียนรู้และทำตลาดออนไลน์ เปลี่ยนจากอาชีพเกษตร มาเป็นผู้บริหารกิจการเกษตร เป็นผู้ประกอบการเกษตร ดูแลตั้งแต่การผลิต และการตลาด โดยไม่ต้องให้พ่อค้าคนกลางมากำหนดราคากลาง หรือทำการตัดราคาเหมือนในอดีต ส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถเจรจาได้ ไปจนถึงทำตลาดเพื่อการส่งออกในอนาคต” นายสมคิด ระบุและว่า
ขณะนี้ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ เตรียมให้นักศึกษาออกไปหาข้อมูลพื้นที่และช่วยเหลือภาคชนบท ขณะที่ ภาคเอกชนรายใหญ่และหน่วยงานต่างๆ พร้อมเข้ามาช่วยเหลือทั้งเรื่องตลาดและการผลิต โดยธนาคารรัฐ เช่น ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) พร้อมเข้าไปช่วยเหลือด้านเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ จากนี้…เครื่องมือทุกอย่าง นโยบายทุกด้าน จะมุ่งเน้นไปสู่ชุมชนอย่างเต็มที่ เพื่อร่วมกันพัฒนาด้านขนส่งและการท่องเที่ยวชุมชน
รองนายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ในวันจันทร์ที่ 29 มิ.ย.นี้ รัฐบาลเตรียมเดินทางไปมอบนโยบายให้กับผู้บริหารสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อเร่งจัดตั้งกองทุนเยียวยาเอสเอ็มอี วงเงิน 300 ล้านบาท สำหรับช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายย่อย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าวแล้ว นอกจากนี้ ตนยังได้หารือกับผู้บริหารคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อนำเงินกองทุนจำนวน 10,000 ล้านบาท ออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการเกษตรเอสเอ็มอี ในด้านการผลิต เทคโนโลยี และการตลาด ส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านอาหารของภูมิภาค เพราะความต้องการของประชากรโลกในสินค้ากลุ่มอาหารยังคงมีต่อเนื่อง ไม่ว่าปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จะคลี่คลายหรือกลับมาใหม่ก็ตาม
ด้าน นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผจก. ธ.ก.ส. ระบุว่า จากข้อมูลพบแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิดฯ และกลับไปอยู่ต่างจังหวัดมากถึง 8-9 ล้านคน ทั้งนี้ ส่วนใหญ่มีคามเชี่ยวชาญด้านบริการ อาหารและอื่นๆ เพื่อต้องการดูแลคนรุ่นใหม่กลับไปอยู่บ้าน จึงต้องฝึกอบรม เติมความรู้ หาช่องทางตลาด ดูแลคนกลุ่มดังกล่าว โดย คณะกรรมการ ธ.ก.ส. อนุมัติสินเชื่อ ทั้งการเสริมสร้างความมั่นคงระดับครัวเรือน เพื่อปล่อยสินเชื่อผ่อนปรน การเสริมสร้างความเข้มแข็งระดับชุมชน และการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก วงเงินสินเชื่อทุกโครงการ 260,000 ล้านบาท รวมกับเสนอขอจัดสรรเงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ อีกจำนวน 55,000 ล้านบาท รวมเป็นอัดฉีดเงินสู่ระบบ ผ่าน ธ.ก.ส. 315,000 ล้านบาท เมื่อนำคนรุ่นใหม่ รุ่นเก่า เข้าไปเติมความรู้ผ่านศูนย์เรียนรู้ประจำจังหวัด กระจายอยู่ 1,200 แห่งทั่วประเทศ จากนั้น ธ.ก.ส.พร้อมจะเติมสินเชื่อให้ตั้งต้นชีวิต และอุดหนุนผ่านงบประมาณอีกร้อยละ 20 สำหรับบุคคลธรรมดา จึงมั่นใจว่า ภาครัฐจะช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ ได้ราวร้อยละ 10 หรือประมาณ 8-9 แสนคน
นอกจากนี้ ธ.ก.ส.พร้อมสนับสนุนนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจและสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ทักษะด้านเทคโนโลยีการตลาด เข้ามาร่วมพัฒนาภาคการเกษตร รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดธุรกิจชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านโครงการเศรษฐกิจพอเพียงสร้างไทย เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคชนบท แบ่งเป็น
1.โครงการเสริมสร้างความมั่นคงระดับครัวเรือน (ตั้งหลัก) ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ขั้นที่ 1 “พึ่งตนเอง” โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณโดยตรง 10,720 ล้านบาทในการขับเคลื่อนและพัฒนาให้เกษตรกร 300,000 ราย สามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารโดยมีแหล่งอาหารเพื่อเลี้ยงชีพภายในพื้นที่รอบตัว (459 มีกินมีใช้) การสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้มีความเชื่อมั่นในวิถีการเกษตรแบบใหม่ 200,000 ราย มาร่วมขับเคลื่อนและพัฒนาภาคการเกษตรทดแทนเกษตรกรที่มีอายุมากขึ้น การพัฒนาและยกระดับศูนย์เรียนรู้เกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านต่างๆ สู่เกษตรกรและคนในชนบท 1,200 แห่งทั่วประเทศ และพัฒนาระบบการจัดการเรียนรู้แบบออนไลน์ ผ่านระบบ E-learning พร้อมทั้งการศึกษาดูงานที่ศูนย์เรียนรู้ โดย ธ.ก.ส.พร้อมสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน ได้แก่ สินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพวงเงิน 10,000 ล้านบาท สินเชื่อ New Gen Hug บ้านเกิดวงเงิน 60,000 ล้านบาท และสินเชื่อระยะสั้นฤดูการผลิตใหม่ (Jump Start Credit) วงเงิน 100,000 ล้านบาท
2.โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งระดับชุมชน (ตั้งฐาน) ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ขั้นที่ 2 “พึ่งพากันและกัน” โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ 22,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน 16,000 แห่ง สำหรับนำไปลงทุนพื้นฐานด้านการเกษตร เช่น ระบบน้ำ โรงเรือน เครื่องจักรกล และเทคโนโลยีนวัตกรรมทางการเกษตร ไม่เกินร้อยละ 50 ของมูลค่าการลงทุน และไม่เกินแห่งละ 5 ล้านบาท และสนับสนุนค่าใช้จ่ายในปัจจัยการผลิตสำหรับวิสาหกิจชุมชนที่มีการบริหารและดำเนินการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดย ธ.ก.ส. พร้อมสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน ได้แก่ สินเชื่อธุรกิจสร้างไทยวงเงิน 30,000 ล้านบาท และสินเชื่อ SMEเกษตรวงเงิน 40,000 ล้านบาท
และ 3.โครงการเสริมสร้างความยั่งยืนของเศรษฐกิจฐานราก (ตั้งมั่น) ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ขั้นที่ 3 “เชื่อมโยงเป็นเครือข่าย” โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ 21,675 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการ 7,255 แห่ง เป็นหัวขบวนในการรวบรวมผลผลิต การแปรรูปผลผลิต การเชื่อมโยงการตลาด การจัดการขนส่ง การให้บริการทางการเกษตร และการท่องเที่ยวชุมชน
โดยเน้นการมีส่วนร่วมและให้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง ประกอบด้วย ค่าลงทุนปัจจัยพื้นฐาน การปรับเปลี่ยนการผลิต การเช่า การจ้างแรงงาน ไม่เกินร้อยละ 50 ของค่าลงทุนและค่าใช้จ่ายและไม่เกินแห่งละ 5 ล้านบาท รวมถึงการนำไปพัฒนาความรู้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้นำสถาบันเกษตรกร โดย ธ.ก.ส.ยังสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน ได้แก่ สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยวงเงิน 10,000 ล้านบาท และสินเชื่อ SME เกษตรวงเงิน 10,000 ล้านบาท
นายอภิรมย์ ย้ำอีกว่า การฟื้นฟูเกษตรกรภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายใต้โครงการเศรษฐกิจพอเพียงสร้างไทย ถือเป็นการบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ สู่การพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจฐานรากที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน ทั้งด้านการผลิต การซื้อ-ขายผลผลิต การแปรรูป และการบริโภคของคนในชุมชนอย่างมีส่วนร่วม เน้นใช้ทรัพยากรของชุมชน มีการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเกื้อกูลและเป็นธรรม ผ่านคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาร่วมคิด ร่วมสร้างธุรกิจชุมชนภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ผ่านการจัดทำ โครงการ “New Gen Hug บ้านเกิด” ค้นหาทายาทเกษตรกรและคนรุ่นใหม่ที่มีไอเดีย เชื่อมั่นในวิถีเกษตรสร้างสรรค์ เข้ามาร่วมคิด ร่วมสร้างธุรกิจชุมชนภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ควบคู่กับการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตรและต่อยอดสู่ธุรกิจในชุมชน โดยเน้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและภาคีเครือข่าย การส่งเสริมการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมในรูปแบบ Social Enterprise (SE) อันนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งและมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
จัดให้มีการประกวดแข่งขั้น ด้วยการนำเสนอโครงการในรูปแบบ รายการ Reality เพื่อสร้างแนวคิด แรงบันดาลใจ โดยมีเนื้อหาที่เข้มข้นชวนติดตาม ผสมผสานความบันเทิงจากเหล่าดาราศิลปินที่มาร่วมสร้างสีสันในรายการ กำหนดออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ONE 31 แบ่งเป็นการแข่งขันให้เลือกได้ทั้งประเภท 1) เกษตรกรรมยั่งยืน (เกษตรธรรมชาติ เกษตรวิถีอินทรีย์วนเกษตร เกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่) 2) เกษตรเทคโนโลยี (เกษตรแปลงใหญ่ เกษตรอุตสาหกรรม เกษตรไฮเทค) 3) เกษตรแปรรูป (เกษตรบริการการเกษตร เกษตรแปรรูปเพิ่มมูลค่า) และ 4) เกษตรท่องเที่ยวชุมชน (เกษตรท่องเที่ยว เกษตรวิสาหกิจชุมชน) ตั้งเป้าหมายผู้เข้าร่วมการแข่งขัน 10,000 คน และทำการคัดเลือกเหลือ 500 คน และ 200 คน ในรอบที่ 2 และ 3 ตามลำดับ จนเหลือ 104 คน ในรอบสุดท้ายเพื่อเข้าสู่รอบการอบรมและเก็บตัว โดยผู้เข้าแข่งขันจะได้นำเสนอแนวคิดในการทำธุรกิจ การพัฒนาต่อยอด การเรียนรู้ระหว่างเข้าร่วมกิจกรรมในโครงการ และบูรณาการการทำงานร่วมกับเครือข่าย สู่การขับเคลื่อนโครงการให้เกิดขึ้นจริง พร้อมทั้งการนำข้อเสนอแนะจากผู้รู้ไปสู่การปฏิบัติและประยุกต์ใช้จริง
โดยผู้สมัครต้องเป็นนักศึกษา บุคคลทั่วไป เกษตรกรรุ่นใหม่ ผู้นำชุมชนกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจุชมชน กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สถาบันการเงินประชาชน และสหกรณ์การเกษตรที่มีอายุ 17 – 45 ปี เลือกสมัครได้ทั้งแบบเดี่ยวและแบบทีม (3-5 คน) โดยมีรางวัลรวมกว่า 5 ล้านบาท แบ่งเป็น ประเภทนำเสนอแนวคิด หรือ BAAC The Idea สำหรับผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการทำธุรกิจด้านการเกษตร จำนวน 24 รางวัล มูลค่ารวม 149,000 บาท และประเภทต้นแบบการทำธุรกิจ หรือ BAAC The Idol สำหรับผู้ที่ดำเนินธุรกิจด้านการเกษตรอยู่แล้ว และมีแนวคิดในการต่อยอดธุรกิจ 104 รางวัล มูลค่า 4,854,000 บาท นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมคัดเลือกและตัดสิน อีกทั้งยังมีผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศที่มีประสบการณ์ตรงแต่ละสาขามาเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้แข่งขัน ทั้งนี้ เปิดรับสมัครตั้งแต่บัดนี้ ถึง 20 กรกฎาคม 2563 www.newgenhugbaankerd.com ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook page : New Gen Hug บ้านเกิด Line Official : BAAC Family หรือสอบถามได้ที่ โทร. 091-7017012.