“สมคิด” ดันไทย ฮับ เกษตร-การแพทย์ CLMVT
สมคิด เร่ง บีโอไอ ส่งเสริมการลงทุน ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนอุตสาหกรรม เกษตร อาหาร ดิจิทัล เครื่องมือแพทย์ ในกลุ่ม CLMVT
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการติดตามการดำเนินงานและมอบนโยบายสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ว่า ได้มอบหมายให้บีโอไอเร่งศึกษามาตรการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมให้แก่ผู้ประกอบการไทย โดยตั้งเป้าหมายยกระดับ กลุ่มสตาร์ทอัพขนาดกลางและรายย่อย สู่การเป็น ยูนิคอร์น ภายใน 5 ปี มีมูลค่ากิจการมากกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร ดิจิทัล เครื่องมือแพทย์ เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนอุตสาหกรรมต่างๆในกลุ่ม CLMVT (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย)
“วันนี้ให้โจทย์บีโอไอไปว่าถ้าไทยจะเป็นฮับเหล่านี้จะดึงดูดให้เกิดการลงทุนได้อย่างไร โดยให้ระดมสมองร่วมกับสถาบันการศึกษา เน้นการพัฒนาและยกระดับเกษตรกรรมระดับท้องถิ่น จูงใจให้คนไทยกลับไปพัฒนาท้องถิ่นของตัวเอง ทำให้เกิดการจ้างงาน เกิดรายได้ ซึ่งอยากให้บีโอไอสร้างการเชื่อมโยงกับเกษตรอัจฉริยะ (สมาร์ทฟาร์มเมอร์) นำไปสู่การเชื่อมโยงการตลาดโลก ซึ่งเชื่อว่าบีโอไอจะสามารถออกแบบมาตรการส่งเสริมได้ไม่ยากนัก”
สำหรับมาตรการดังกล่าวนับเป็นการเปลี่ยนแปลงทิศทางเชิงนโยบายจากที่เคยเน้นดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) มาเป็นการส่งเสริมการลงทุนและผลิตสินค้าในไทยเป็นหลักก่อน ช่วยสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างมูลค่าเศรษฐกิจในประเทศ สุดท้ายนักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนจากจีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น และไต้หวันที่สนใจเข้ามาลงทุนในไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ด้านน.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า บีโอไอยังคงยึดนโยบายหลักคือการ ดึงการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) เนื่องจากไทยยังต้องการเทคโนโลขั้นสูง ขณะเดียวกันจะเพิ่มนโยบายในการผลักดันอุตสาหกรรมในประเทศให้เป็นตัวขับเคลื่อนประเทศ เช่น ด้านเกษตร ดิจิทัล การแพทย์ ซึ่งจะมีการปรับปรุงเงื่อนไข สิทธิประโยชน์ เพิ่มประเภทกิจการเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบีโอไอ ในวันพุธที่ 17 มิ.ย.63
ขณะเดียวกันได้เตรียมที่จะออกแพคเกจใหม่สำหรับการย้ายฐานการลงทุน (รีโลเคชั่น) ที่จะอิงเรื่องของพื้นที่เป็นหลักเช่น สามารถลงในพื้นที่ใดในประเทศไทยก็ได้ ซึ่งอยู่ระหว่างหารือว่าจะได้สิทธิประโยชน์อย่างไรได้บ้างอย่างที่มีอยู่คือ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และ เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) รวมถึงเขตในอนาคตที่จะเกิดขึ้นคือ เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ และเขตพิเศษภาคอีสาน เป็นต้น
ส่วนกรณีรัฐบาลญี่ปุ่นให้การสนับสนุนด้านการเงินให้แก่บริษัทญี่ปุ่นที่ย้ายโรงงานและฐานการผลิตกลับไปอยู่ที่ญี่ปุ่นอีกครั้งนั้น เรื่องนี้ได้มีการหารือกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) และหอการค้าญี่ปุ่น(เจซีซี) ซึ่งบริษัทญี่ปุ่นยังมองว่าประเทศไทยมีศักยภาพ และได้เปรียบเรื่องทำเลที่ตั้ง รวมถึงมีจุดเด่นด้านอาหารและเกษตร ซึ่งเมื่อมีสถานการณ์โควิด-19 ประเด็นความปลอดภัยด้านอาหารจึงเป็นสิ่งสำคัญ เชื่อว่าจะยังสามารถชักจูงบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยได้มากขึ้น