แฉ!ชงแผนรุมทึ้งงบฟื้นฟูฯ เกินเป้ากว่า 2 แสนล.
เผยหน่วยงานรัฐ ชงแผนใช้เงินฟื้นเศรษฐกิจ 4 ด้าน ทะลุ 6 แสนล้านบาท ด้าน เลขาฯสศช.แจง มีแค่ 4 แสนล้านบาท ย้ำ! ต้องเลือกโครงการที่ใช่จริงๆ ระบุ! ไม่มีงบแจก ส.ส.หัวละ 80 ล้านบาท มั่นใจการตรวจสอบก่อนและหลังใช้จ่ายโปร่งใส
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่าน พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 4 แสนล้านบาท ว่า ขณะที่หน่วยงานต่างๆ ได้ทยอยยื่นเสนอโครงการและแผนงานกระตุ้นเศรษฐกิจมาให้คณะกรรมการกลั่นกรองโครงการใช้เงินกู้ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ได้พิจารณา คาดว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะพิจารณาในเบื้องต้น ก่อนนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงต้น ก.ค.นี้ และจะมีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 3 นี้
ด้าน นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สศช. ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ระบุว่า ส่วนราชการได้เสนอโครงการผ่านมายัง สศช. ณ วันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา รวมกันมากถึงกว่า 6 แสนล้านบาท โดยจะเสนอ ครม. เห็นชอบโครงการในรอบแรกได้ภายในวันที่ 2 หรือ 7 ก.ค. ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นไปตามกรอบการใช้เงินเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 รวม 4 ด้าน ประกอบด้วย
1. โครงการที่เสนอโดยกระทรวง ทบวง กรม ในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้านเกษตร เกษตรเพิ่มมูลค่า การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพซึ่งเสนอมา 91 โครงการ วงเงิน 2.2 แสนล้านบาท โครงการที่เสนอวงเงินสูงสุด ขอไปฟื้นฟูเอสเอ็มอี ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท รองลงมาเป็นโครงการระดับพันล้านบาท ซึ่งเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเกษตรยังยืน ท่องเที่ยวสู่ชุมชน ขอปลูกปะการังเทียม เป็นต้น
2. โครงการสำหรับเศรษฐกิจฐานราก โดยเสนอมาจากระดับหน่วยงานและจังหวัด รวมทั้งสิ้น 28,331 โครงการ วงเงิน 3.72 แสนล้านบาท เมื่อจำแนกเป็นรายจังหวัด มี 55 จังหวัดที่เสนอโครงการมา 28,196 โครงการ วงเงิน 2.03 แสนล้านบาท โดยเฉลี่ยโครงการมีมูลค่าอยู่ที่ 10-20 ล้านบาท เฉลี่ยต่อจังหวัดอยู่ที่ 100-1,000 ล้านบาทต่อจังหวัด
นอกจากนี้ เป็นโครงการของส่วนราชการ 13 กระทรวง 4 หน่วยงานที่ขึ้นตรงสำนักนายกรัฐมนตรี รวม 115 โครงการ 1.68 แสนล้านบาท
3. โครงการสำหรับการกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งกระทรวงการคลังกำลังหารือมาตรการร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในการแจกเงินเพื่อไปเที่ยว ซึ่งยังไม่เสนอวงเงินกลับมา
และ 4.โครงการเพื่อโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการที่อยู่ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากอยู่แล้ว ก็มีส่วนราชการเสนอโครงการมาใหม่อีก 3 โครงการ วงเงินไม่มาก เป็นโครงการเกี่ยวกับช่องทางตลาดแบบดิจิทัล
สำหรับขั้นตอนการพิจารณาโครงการนั้น นายทศพร ย้ำว่า รอบแรกจะพิจารณาในช่วงวันที่ 5-15 มิ.ย. โดยคณะทำงานจะเข้าไปตรวจสอบรายละเอียดโครงการเบื้องต้น พร้อมเปิดให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบรายละเอียดโครงการ ผ่านเว็บไซด์ ThaiMe เมื่อผ่านการตรวจสอบรอบแรก ก็จะเข้าสู่ชั้นคณะอนุกรรมการและกรรมการกลั่นกรองฯ ในช่วงวันที่ 16-30 มิ.ย. และเข้า ครม.รอบแรกในช่วงวันที่ 2 หรือ 7 ก.ค. ส่วนที่โครงการไม่ผ่าน มีบางโครงการที่คณะทำงานตีตก และบางโครงการที่ต้องส่งข้อมูลเพิ่ม ก็จะต้องส่งมาภายใน 9 ก.ค. เพื่อรวมกับโครงการเสนอมาเพิ่ม และเสนอ ครม.พิจารณารอบ 2 ในวันที่ 11 ส.ค.
“หากรวมทุกโครงการที่เสนอมา พบว่าเกินวงเงิน 4 แสนล้านบาทแล้ว จึงต้องเลือกโครงการที่ใช่ ส่วนเงินกู้ 4 แสนล้านบาทสำหรับฟื้นฟูจะพอหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับฝ่ายนโยบาย” เลขาธิกาน สศช. ระบุ และว่า ส่วนตัวตนไม่ได้ยินข่าวที่ว่า มีกลุ่ม ส.ส.ต้องการจะนำเงินกู้ส่วนนี้ ไปแบ่งกันคนละ 80 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าการใช้เงิน 4 แสนล้านบาท มีกระบวนการตรวจสอบที่โปร่งใส ตั้งแต่คัดกรองโครงการ และเมื่อโครงการอนุมัติแล้ว ก็มีกระบวนการติดตามและประมวลผล โดยจะเปิดให้ภาคประชาสังคมเข้ามาตรวจสอบได้ ซึ่งข้อมูลที่ผ่าน ครม.ทุกโครงการจะอยู่บนเว็บไซด์ให้ตรวจสอบความคืบหน้าได้หมด
นอกจากนี้ จะมีการให้หน่วยงานกลางเข้ามาช่วยตรวจสอบเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้มี องค์การพัฒนาระหว่างประเทศ (UNDP) ขององค์การสหประชาชาติ ขอเข้ามาประเมินการใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาท ว่ามีประสิทธิภาพ โปร่งใสหรือไม่ รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะการฟื้นตัวเศรษฐกิจในระยะต่อไป.