รัฐบาลแจ้งเกิดอีอีซีเต็มรูปแบบ
“บิ๊กตู่” ไม่สนโควิด เพราะการลงทุนรอไม่ได้ ไฟเขียว กพอ.ขับเคลื่อนโครงการยักษ์ การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา มูลค่าโครงการ 290,000 ล้านบาท ย้ำทำเสร็จพร้อมรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามในปี 2566
“น่าจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย หากพวกเราจะเห็นโครงการขนาดใหญ่ 2 โครงการ คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามและโครงการสนามบินอู่ตะเภา เสร็จในเวลาพร้อมๆ กัน หรือใกล้เคียงกันภายในปี 2566” นาย คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) บอร์ดอีอีซี กล่าวภายหลังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะประธานบอร์ดอีอีซีได้เห็นชอบโครงการสนามบินอู่ตะเภา มูลค่าโครงการ 290,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 21 พ.ค.2563
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่บอร์ดอีอีซี ให้ความเห็นชอบแล้ว ฝ่ายบริหารจะนำเรื่องดังกล่าว เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป หลังจากโครงการดังกล่าว เกิดความล่าช้ามาหลายเดือน เนื่องจากการพิจารณาศาลปกครอง กรณีผู้ประ มูลรายหนึ่งส่งเอกสารล่าช้าไป 9 นาที
นายคณิศ กล่าวว่า โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก จะเป็นสนามบินกรุงเทพฯ แห่งที่ 3 มีความพร้อมและทันสมัย โดยมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบินทั้ง 3 แห่งเข้าด้วยกันคือ ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ซึ่งเมืองการบินภาคตะวันออก มีพื้นที่ครอบคลุมทั้งหมด 6,500 ไร่ มีเมืองพัทยา และจังหวัดระยองตั้งอยู่บริเวณโดยรอบ ทำให้เกิดการเชื่อมโยงทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ
“หากไม่มีรถไฟความเร็วสูง มีแต่สนามบินอู่ตะเภาก็ไม่เกิดประโยชน์ เช่นกัน หากมีแตกรถไฟความเร็วสูง ไม่มีสนามบิน ก็เชื่อมโยง ก็ไม่เกิดขึ้น ทำให้ทั้ง 2 โครงการเป็นเหมือนกระดูกสันหลังของโครงการอีอีซี” นายคณิศ กล่าว
ขณะที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ก็สนับสนุนประเด็นนี้ จึงไฟเขียวให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อเชื่อมโยงและวางแผนการทำงานของทั้ง 2 โครงการให้เสร็จในเวลาใกล้ๆ กัน โดยนายสมคิด ย้ำว่า “ไม่จำเป็นต้องเสร็จพร้อมกัน แต่ขอให้เสร็จในเวลาใกล้เคียงกัน ไม่ต้องถามว่า ไก่หรือไข่ อะไรเกิดก่อนกัน”
สำหรับผู้ชนะการประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ คือ กลุ่มบีบีเอส ซึ่งประกอบด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำ กัด (มหาชน) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัท ชิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และคาดว่า จะนำเรื่องดังกล่าว เสนอให้สู่การพิจารณาของ ครม.ได้ในเดือนมิ.ย.ปีนี้ โดยมี 6 กิจกรรมสำคัญที่ต้องลงทุน ได้แก่ อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ศูนย์ธุรกิจการค้าและการขนส่งภาคพื้นดิน ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน เขตประกอบการค้าเสรี และเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ และศูนย์ฝึกอบรมการบิน
นายคณิศ กล่าวว่า ตนรู้สึกดีใจมากที่โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ ผ่านได้ด้วยดี เพราะโครงการนี้ถือว่า ทำได้เร็วมาก ภายใต้กฎหมายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐพ.ศ.2556 หรือพีพีพี โดยใช้เวลาเพียง 3 ปี ซึ่งรวมถึงการพิจารณาของศาล ซึ่งใช้เวลาไปอีก 1 ปีครึ่ง
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2562 รัฐบาลได้ลงนามกับบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร) โดย นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมลงนาม โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่า 117,226 ล้านบาท โดยจะเข้าปรับปรุงรถ ไฟเส้นทางแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ จากสถานีพญาไท ไปสนามบินสุวรรณภูมิก่อนเป็นอันดับแรก หลังจากนั้น จะดำเนินการก่อสร้างเส้นทางอื่นๆ ต่อไป