บิ๊กป้อม สั่งเตรียมพร้อมเก็บน้ำฝน
“พลเอกประวิตร” ถกคณะอนุกรรมการฯอำนวยการน้ำเร่งเพิ่มศักยภาพการเก็บกักน้ำพร้อมรับฝนนี้
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/2563 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล และประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงบประมาณ ฯลฯ เพื่อประชุมติดตามคาดการณ์สภาพอากาศซึ่งขณะนี้ได้เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการแล้วตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา จากอิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ โดยขณะนี้มีเริ่มมีปริมาณฝนตกมากขึ้นในบริเวณภาคใต้ ภาคตะวันออก และฝนจะตกกระจายตัวเป็นบริเวณกว้างประมาณสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม ซึ่งคาดว่าจะเกิดฝนตกหนักบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ไปถึงต้นเดือนกรกฎาคม และในช่วงเดือนสิงหาคมฝนจะมากขึ้นบริเวณตอนกลางของประเทศ แต่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกปริมาณฝนจะลดลง
ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ 8 มาตรการบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับในฤดูฝน ปี 2563 ประกอบด้วย 1) การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัย 2) การปรับแผนการเพาะปลูกพืช ในพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา 13 แห่ง ซึ่งพื้นที่ทุ่งบางระกำ สามารถเพาะปลูกได้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 63 ให้เก็บเกี่ยวได้ก่อนฤดูน้ำหลากเพื่อนำมาใช้เป็นพื้นที่สำหรับหน่วงน้ำ ส่วนอีก 12 แห่ง เกษตรกรสามารถเริ่มเพาะปลูกได้แล้วโดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก 3) การจัดทำเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ฝน สำคัญยังได้สั่งการให้กรมชลประทาน และทุกหน่วยงาน เพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำ เช่น เร่งจัดเตรียมระบบสูบน้ำย้อนกลับเข้าอ่างฯ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกอีกด้วย 4) เร่งตรวจสอบอาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ และสถานีโทรมาตร ให้พร้อมใช้งานโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงเกิดน้ำท่วม น้ำล้นตลิ่ง 5) เร่งรัดหน่วยงานตรวจสอบสิ่งกีดขวางทางน้ำ จากแผน 625 แห่งให้แล้วเสร็จ ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 189 แห่ง 6) การขุดลอก กำจัดผักตบชวา ซึ่งจากผลดำเนินการกำจัดผักตบชวาบริเวณลุ่มน้ำภาคกลาง แหล่งน้ำปิดทั่วไป และแหล่งน้ำเชื่อมโยงตั้งแต่ตุลาคม 2562 -ปัจจุบันดำเนินการแล้วประมาณ 2 ล้านตัน โดยล่าสุดจิสด้าได้จัดส่งภาพถ่ายดาวเทียมในเขตพื้นที่ภาคกลางทั้งหมด 19 จังหวัดให้กรมโยธาธิการและผังเมืองเรียบร้อยแล้ว พบแหล่งน้ำที่มีผักตบชวาและวัชพืช จำนวน 128 จุด รวมพื้นที่ 3,574 ไร่ ปริมาณผักตบชวาและวัชพืช 285,920 ตัน โดย 4 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้ 7) การเตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือในการให้ความช่วยเหลือ 8) การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนรับทราบและร่วมมือสนับสนุนในส่วนที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายกับหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุมว่า“ขอให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการดำเนินการอย่างจริงจัง เดินหน้าตามเป้าหมายที่วางไว้ พร้อมมอบหมายหน่วยงานผู้รับผิดชอบนำมาตรการไปจัดทำแผนปฏิบัติการโดยเร็ว เพื่อเตรียมการรองรับสถานการณ์ในอนาคต เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม โดยในวันที่ 20 พฤษภาคม นี้จะลงพื้นที่ติดตามแผนงานการกำจัดผักตบชวา สิ่งกีดขวางทางน้ำในแม่น้ำท่าจีน จ.นครปฐม เพื่อรองรับน้ำหลากที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเน้นการมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงานของรัฐและชุมชนริมน้ำในการแก้ปัญหาแบบยั่งยืนด้วย”
ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมวันนี้ยังได้เห็นชอบในหลักการวางแผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกฤดูฝน ปี’63 (1 พ.ค. – 31 ต.ค.63) โดยปริมาณน้ำต้นทุนฤดูฝน ณ วันที่ 1 พ.ค. 63 มีทั้งสิ้น 37,433 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ขณะที่ประเมินความต้องการใช้น้ำรายกิจกรรม ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน รวม 83,085 ล้าน ลบ.ม. แบ่งออกเป็น 1) อุปโภค-บริโภค 3,653 ล้าน ลบ.ม. 2) รักษาระบบนิเวศ 11,496 ล้าน ลบ.ม. 3) เกษตรกรรม 67,166 ล้าน ลบ.ม. แผนการเพาะปลูกทั้งประเทศรวม 76.271 ล้านไร่ แบ่งเป็น ในเขตชลประทาน 27.61 ล้านไร่ นอกเขตประทาน 48.66 ล้านไร่ และ 4) อุตสาหกรรม 770 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ ปริมาณน้ำที่ต้องการในส่วนที่เหลือจะอาศัยปริมาณน้ำฝนอีกประมาณ 63,372 ล้าน ลบ.ม. อย่างไรก็ตาม เพื่อเตรียมการวางแผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกฤดูฝน ปี’63 ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สทนช. ร่วมกับกรมชลประทาน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และกรมส่งเสริมการเกษตร จะร่วมกันประเมินสถานการณ์และคาดการณ์การจัดสรรน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จำนวน 36 แห่ง ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการใช้น้ำในพื้นที่เขตชลประทานจนสิ้นสุดฤดูฝน 30 ตุลาคม 2563 โดยวางแผนปรับปริมาณการใช้น้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ และรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะอนุกรรมการฯ เพื่อนำเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และคณะรัฐมนตรีต่อไป
“จากข้อมูลปริมาณสะสมน้ำฝนทั้งประเทศในช่วง ม.ค. – 30 มี.ค. 63 ยังคงต่ำกว่าค่าปกติ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคใต้ มีปริมาณฝนสะสมน้อยกว่าค่าปกติถึง 50-75 % ส่วนคาดการณ์ในช่วง พ.ค. – มิ.ย. 63 พบว่า พื้นที่ส่วนใหญ่จะมีฝนใกล้เคียงค่าปกติ ยกเว้นบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ จะมีฝนต่ำกว่าปกติ และในช่วง พ.ค. – ก.ย. 63 บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และบางพื้นที่ของภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ จะมีฝนต่ำกว่าค่าปกติ รวมทั้งยังมีโอกาสที่จะเกิดฝนทิ้งช่วงได้ในช่วงระหว่าง มิ.ย. – ก.ค. 63 ซึ่งอาจส่งผลให้บางพื้นที่ประสบสถานการณ์แล้งได้ แม้ว่าจะเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว แต่จำเป็นต้องเฝ้าระวังปัญหาแล้งในบางพื้นที่ด้วย รองนายกรัฐมนตรีจึงได้สั่งการให้มีกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในพื้นที่แล้งซ้ำซาก ซึ่งทุกภาคส่วนต้องช่วยกันวางแผนรองรับในระยะยาว ควบคู่ไปกับการเตรียมแผนบริหารจัดการน้ำรองรับช่วงฤดูฝนนี้ด้วย”ดร.สมเกียรติ กล่าวในตอนท้าย