“ส.อ.ท.” แนะทางรอดอุตฯอาหารฝ่าโควิด-19
ปธ.กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ส.อ.ท. แนะทางรอดและโอกาสอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มไทยในวิกฤติ โควิด-19 ต้องรักษาความได้เปรียบในด้านทรัพยากรไว้ให้ได้
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผยถึง ทางออกอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มไทยในวิกฤติโควิด-19 ว่า วิกฤติโควิด-19 ทำให้สินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มมีการเปลี่ยนแปลงไปจากสถานการณ์ปกติ อาหารสำเร็จรูป อาหารทะเลกระป๋อง ผลไม้กระป๋อง รวมถึงซอสปรุงรสกลายเป็นกลุ่มที่เติบโตได้ดีในช่วงกักตัวอยู่กับบ้าน เพราะทุกคนพยายามเก็บกักตุนอาหารไว้เพื่อการบริโภค เนื่องจากไม่แน่ใจนโยบายการล็อกดาวน์ (Lock Down) ของรัฐบาล ซึ่งแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันไป
โดยประเทศไทยถือว่ามีความได้เปรียบในด้านการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มอย่างมาก สามารถผลิตวัตถุดิบได้เอง ทั้งพืช ผัก ผลไม้ ปศุสัตว์ และอาหารทะเล แม้จะมีการนำเข้าบ้างในบางวัตถุดิบ แต่ถือว่ายังน้อยกว่าที่เราผลิตเอง ในภาวะปกติการบริโภคสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มภายในประเทศรวมการบริโภคของนักท่องที่ยวจะมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณปีละ 2 ล้านล้านบาท และมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท
แต่ในวันนี้ตัวเลขในส่วนของนักท่องเที่ยวลดลงไป ทำให้สินค้าอาหารในกลุ่มที่จำหน่ายในร้านอาหาร โรงแรม หรือสินค้าที่เป็นของฝากมีสัดส่วนที่ลดลงไปด้วย ทางออกคือผู้ประกอบการและผู้ผลิตต้องปรับตัวกลับมาผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองในฝั่งผู้บริโภคให้มากขึ้น พร้อมปรับเปลี่ยนช่องทางการขายให้ส่งตรงถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้นด้วย
ด้านการขายสินค้าทางตรงสู่ผู้บริโภคนั้น ปัจจุบันนับว่ามีความสะดวกด้วยการขายผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งระบบอีคอมเมิร์ซและแอปพลิเคชัน โดยสถานการณ์โควิด-19 เป็นแรงผลักดันครั้งใหญ่ที่จะทำให้คนคุ้นเคยกับสิ่งเหล่านี้เร็วขึ้น ทำให้แม้ว่าหลังจากนี้สถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่พฤติกรรมการบริโภคและการซื้อสินค้าของคนก็จะเปลี่ยนไป
ดังนั้นผู้ประกอบการต้องตามให้ทันเทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภครวมถึงสิ่งที่จะมองข้ามไม่ได้เลยคือบรรจุภัณฑ์ ซึ่งต้องมีการเลือกใช้อย่างเหมาะสม สามารถรักษาคุณภาพสินค้าให้คงอยู่ได้นาน สะดวกต่อการขนส่ง มีความปลอดภัย และสร้างความมั่นใจเรื่องของการปลอดเชื้อให้แก่ผู้บริโภคได้
ส่วนในฝั่งของผู้ประกอบการและผู้ผลิตสินค้านั้นต้องปรับตัวเข้าสู่ยุค 4.0 ให้เร็วขึ้น มีการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เป็นระบบออโตเมชั่น เอไอ (Artificial Intelligence : AI) และ ไอโอที (Internet of things : IoT) มากขึ้น จากปัญหาสำคัญที่จะเกิดขึ้นคือเรื่องของแรงงานที่มีแนวโน้มลดลง แรงงานภายในประเทศมีอัตราการเกิดน้อยและเข้าสู่ภาวะสูงวัย
ส่วนแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านก็จะน้อยลงจากความยากในการเข้าออกประเทศจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค และการลงทุนที่เริ่มกระจายไปในหลายประเทศในภูมิภาคทำให้แรงงานเหล่านี้มีโอกาสทำงานในประเทศตัวเองได้มากขึ้น แต่ข้อดีคือปัจจุบันเทคโนโลยีเครื่องจักรมีราคาที่ถูกลงผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยไทยนำเข้าเครื่องจักรจาก 3 ประเทศหลัก คือ จีน ญี่ปุ่น และเยอรมัน สัดส่วนรวมกันอยู่ที่ประมาณ 50-70% ซึ่งเทคโนโลยีเครื่องจักรเหล่านี้นอกจากจะแก้ปัญหาในเรื่องของแรงงานแล้ว ยังทำให้ผู้ประกอบการยกระดับประสิทธิภาพและมาตรฐานการผลิต เพิ่มปริมาณการผลิต มีความปลอดภัยปลอดเชื้อ ประหยัดพลังงาน สามารถควบคุมต้นทุนการผลิตได้ดี ทำให้สามารถแข่งขันได้มาก
ดังนั้นทางรอดของธุรกิจและอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของไทย จึงต้องรักษาความได้เปรียบในด้านทรัพยากรไว้ให้ได้ เราได้เปรียบกว่าหลายประเทศที่ต้องนำเข้าอาหารถึง 90% บางประเทศ 95% เพราะไม่สามารถเพาะปลูกหรือทำปศุสัตว์ได้ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งทำให้เห็นชัดว่าสุดท้ายแล้วมนุษย์ไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าการอยู่รอด การไม่ติดเชื้อ การมีอาหารกินระหว่างที่รอยารักษา รอวัคซีน
ฉะนั้นความสำคัญของอาหารในวันนี้ไม่ใช่อาหารที่มีมูลค่าสูง ราคาแพง นวัตกรรมเยอะ แต่เป็นอาหารพื้นฐาน หรือแม้กระทั่งกึ่งสำเร็จรูป (Ready to Cook) ตอนนี้คนพยายามอยู่อย่างประหยัดเพราะว่าไม่มั่นใจเรื่องของอนาคต ดังนั้นการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม จะสามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานและปริมาณการบริโภคของประชากรโลกได้อย่างเพียงพอ หากผู้ประกอบการมีการปรับตัวได้อย่างรวดเร็วก็จะเป็นโอกาสในวิกฤตและเป็นทางออกของธุรกิจอย่างแท้จริง.