จี้ ผจก.สาขา ธ.ก.ส. เป็นเซลส์แมนขายสินค้าเกษตร
“สมคิด” แนะตั้งชื่อโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ผูกโยงภารกิจทุกหน่วยงานเข้าด้วยกัน เชื่อ 1 ปีจากนี้ พึ่งได้เฉพาะเศรษฐกิจในประเทศ ระบุ! ลุยโครงการที่ทำได้ก่อน ไม่ต้องรองบประมาณรัฐ จี้ ผจก.สาขา ธ.ก.ส. ทำหน้าที่ “เซลส์แมน” ขายสินค้าท้องถิ่น ด้าน ธ.ก.ส.ตั้งเป้าขอเงินหนุนโครงการฟื้นฟูฯ 5.5 หมื่นล้านบาท พร้อมตั้งงบปล่อยกู้เสริม หวังสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ถึง มี.ค.65 อีก 4.8 แสนล้านบาท ขณะที่ “อดีต รมช.คลัง” แนะดึงเงินจากท้องถิ่นเสริมโครงการ เชื่อได้งบฯไม่ครบตามที่ขอ ย้ำ! เน้นสร้างโครงการที่ยั่งยืน หวั่นคนทิ้งกลางครัน
ชื่อนั้นสำคัญไฉน?
สำคัญ…และสำคัญมากในความคิดของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ภายหลังรับฟังแผนงานของ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผจก. ธ.ก.ส. ได้กล่าวรายงานต่อ ที่ประชุมแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เมื่อช่วงเช้าวันที่ 8 พ.ค.2563 ที่กระทรวงการคลัง
ชื่อ “โครงการธุรกิจชุมชนฐานสร้างไทย” ซึ่ง ธ.ก.ส.คาดหมายจะใช้เป็นแนวทางขับเคลื่อนแผนงานในโครงการย่อย 3 โครงการ “ตั้งหลัก ตั้งมั่น และตั้งฐาน” กับวงเงินที่ขอสนับสนุน 5.5 หมื่นล้านบาท อาจไม่ตอบโจทย์กับโครงการใหญ่ของรัฐบาลที่ต้องใช้เงินมากถึง 4 แสนล้านบาท จาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ 1 ล้านล้านบาท เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศ ภายหลังวิกฤตไวรัสโควิด-19 สิ้นสุดลง
เพราะนี่…คือ การฟื้นฟูที่เน้นสร้างความเข้มแข็งให้กับคนในชุนชนท้องถิ่นและเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน สำคัญกว่านั้น ภาพใหญ่ของโครงการจะถูกบูรณาการภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชนขนาดใหญ่ เข้าไว้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น…กระทรวงการคลัง และหน่วยงานในสังกัด โดยเฉพาะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อาทิ ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม สภาเกษตรกรแห่งชาติ กองทุนหมู่บ้าน บมจ. ปตท. รวมถึงเอกชนที่ดำเนินธุรกิจค้าปลีกระดับประเทศ
ดังนั้น จุดเริ่มในการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. จึงต้องโดดเด่นตั้งแต่การชื่อโครงการ ส่วนตัว…นายสมคิด โยนโจทย์ให้ นายอภิรมย์ และผู้บริหารระดับรองๆ จาก ธ.ก.ส. ได้ช่วยกันขบคิด คือ จะตั้งชื่อโครงการอย่างไรจึงทำให้หน่วยงานอื่นๆ สามารถจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับทั้ง 3 โครงการ “ตั้งหลัก ตั้งมั่น และตั้งฐาน”
พร้อมกับยก ตัวอย่างชื่อ…ให้ได้ฟังถ้วนกัน นั่นคือ “โครงการเกษตรพอเพียงสร้างไทย” ที่น่าจะตอบโจทย์ ทั้งกับแผนงานในโครงการที่รัฐบาลคาดหวังจะนำไปใช้เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ และการมีส่วนร่วมของหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
นายสมคิด ยังเน้นในประเด็นที่ ธ.ก.ส. ต้องแยกแนวทางการดำเนินงาน ระหว่าง…ส่วนที่ต้องรอเงินจากงบประมาณ หรือจาก พ.ร.ก.เงินกู้ ซึ่งต้องใช้เวลา แต่บางโครงการเป็นการปล่อยสินเชื่อผ่านโครงการต่างๆ ของ ธ.ก.ส. และเป็นเงินของ ธ.ก.ส.เอง ก็น่าที่จะดำเนินการได้ทันที โดยเน้นการปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยไม่ให้เกิดความล่าช้าจนกลายเป็นความเสียหายตามมา เพียงแต่สินเชื่อที่จะปล่อยกู้นั้น ธ.ก.ส.จะต้องคิดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 และต้องการกลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ ด้วยการประกอบอาชีพในบ้านเกิดของตัวเอง
“หลายคนเป็นมือใหม่ ไม่เคยประกอบอาชีพการเกษตร การแปรรูปสินค้าเกษตร หรือกิจกรรมต่อเนื่องอื่นๆ มาก่อน แต่อยากกลับมาทำงานในท้องถิ่น เพราะไม่ต้องการขายแรงงานในต่างจังหวัด และไม่ต้องการถูกเลิกจ้างเหมือนที่แล้วมา แต่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง ดังนั้น การจัดฝึกอบรมเพื่อให้ความรู้กับคนกลุ่มนี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่ ธ.ก.ส.จะต้องให้ความสำคัญอย่างมาก แม้จะต้องใช้เงินว่าจ้างให้คนกลุ่มนี้มาเข้ารับการฝึกอบรมก็ต้องทำ เพราะเมื่อเขาได้เข้ามาฝึกอบรมในเรื่องต่างๆ ที่จัดหัวข้ออบรมเอาไว้ และมีรายได้จากค่าจ้างที่เข้าอบรม กระทั่ง เกิดความสนใจ เพราะเข้าใจและเริ่มความรู้ ก็เป็นหน้าที่ที่ ธ.ก.ส.จะต้องจัดหาแหล่งเงิน อัตราดอกเบี้ยถูกๆ ให้พวกเขา ขณะเดียวกัน หน่วยงานอื่นๆ เช่น ปตท. บริษัทค้าปลีกของภาคเอกชน ก็จะเข้ามารับหน้าที่ในการขนส่งและการตลาดต่อไป” นายสมคิด ย้ำและว่า
จากนี้ ภารกิจของ ผจก.สาขา ธ.ก.ส. จะต้องเป็นมากกว่าการดูแลงานด้านสินเชื่อ แต่จะต้องทำหน้าที่เป็น “เซลส์แมน” คอยดูแลด้านการตลาดและการขายสินค้าของเกษตรกรในชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ของตัวเอง และสิ่งนี้จะต้องถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือชี้วัดการทำงานของ ผจก. ธ.ก.ส. จากนี้ไป พร้อมกันนี้ ธ.ก.ส.จะต้องดึงเอาศักยภาพของเกษตรกรในกลุ่ม “สมาร์ท ฟาร์มเมอร์” “เกษตรเอสเอ็มอี” และ “หัวขบวน” ที่มีเป็นจำนวนมาก ออกมาใช้งานในเชิงบูรณาการ เพื่อชี้นำและเป็นพี่เลี้ยงให้กับเกษตรกรกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะพวกมือใหม่
“หาก ธ.ก.ส.และหน่วยงานต่างๆ ร่วมกระทำในสิ่งเหล่านี้ จะถือว่าเป็นการร่วมกันสร้างบุญครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดเที่เคยมี เพราะความรู้ที่ให้ โอกาสที่สร้าง เงินกู้ที่พร้อมสนับบสนุน และอัตราดอกเบี้ยต่ำมากๆ แม้กระทั่ง ใช้เงินจ้างให้คนเหล่านี้มาเข้ารับการฝึกอบรม เพื่อให้พวกเขากลับมาเข้มแข็ง กลายเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างระบบเศรษฐกิจฐานรากที่ยั่งยืน ย่อมมีคุณค่ามากกว่าการจ่ายเงินเยียวยาอย่างเทียบกันไม่ได้” รองนายกรัฐมนตรี ย้ำและว่า ในช่วง 1 ปีนับจากนี้ รัฐบาลจำต้องพึ่งพิงเศรษฐกิจในประเทศ ด้วยการสร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่น และดึงภาคเอกชนรายใหญ่เข้ามาร่วมดูแลชุมชน โดยเตรียมเสนอ ครม.พิจารณาสัปดาห์หน้า เพื่อเริ่มเดินหน้าโครงการสร้างงาน การผลิต การตลาด การจ้างงาน ที่คาดว่าจะสามารถดำเนินงานได้ในช่วงต้นเดือน มิ.ย.นี้
ด้าน นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ระบุว่า มีผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิด-19 กระทั่ง ไม่มีงานทำมากถึง 7 ล้านคน ขณะนี้มีผู้ยื่นขอกู้ฉุกเฉินจาก ธ.ก.ส. 1.87 ล้านราย จากการสอบถามผ่านโครงการสินเชื่อฉุกเฉินฯ พบว่า ส่วนใหญ่ของผู้เดินทางกลับไปอยู่บ้านต่างจังหวัด มีความเชี่ยวชาญและต้องการประกอบอาชีพร้านอาหารมากถึง 850,000 ราย นวดแผนโบราณ 100,000 ราย ที่น่าสนใจคือ มีคนรุ่นใหม่อยากทำเกษตรอุตสาหกรรม แลบะเกษตรเทคโนโลยี โดยครึ่งหนึ่งต้องการกลับมาทำงานที่บ้านเกิด ธ.ก.ส.จึงต้องทำให้เกิดการจ้างงาน โดยจะเริ่มดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ 1 พ.ค. 2563 – 31 มี.ค. 2565 รวม 75,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ วงเงิน 55,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินจะขอจากเงินกู้ 4 แสนล้านบาท โดยจัดตั้งเป็นกองทุนดูแลเศรษฐกิจฐานรากใช้ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแกนหลักยึดการทำงาน บวกกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการทำงาน
สำหรับ 3 โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วย 1. โครงการสร้างความมั่นคงด้านอาหารระดับชุมชน (ตั้งหลัก) ของบประมาณสนับสนุน 720 ล้านบาท เพื่อให้พึ่งพาตนเอง 300,000 ราย รวมถึงโครงการส่งเสริมผ่านสินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ 200,000 ราย วงเงิน 10,000 ล้านบาท หวังลดค่าใช้จ่ายเกษตรกรไม่น้อยกว่า 1,000 บาทต่อเดือน ระยะเวลา 18 เดือน เป็นเงิน 5,400 ล้านบาท และสินเชื่อ New Gen ฮักบ้านเกิด คิดดอกเบี้ยร้อยละ 4 ช่วง 3 ปีแรก ขอให้ บสย ค้ำประกัน เพื่อดึงคนรุ่นใหม่ทำอาชีพ สร้างรายได้ให้คนรุ่นใหม่กว่า 700,000 ราย เป็นเงิน 110,000 ล้านบาท
2.โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านธุรกิจชุมชน (ตั้งฐาน) สนับสนุนวิสาหกิจชุมชน 16,000 แห่ง ลงทุนปัจจัยพื้นฐาน เพื่อให้พึ่งพาซึ่งกันและกันด้วยการรวมกลุ่มของวิสหากิจชุมชน เสนอของบประมาณสนับสนุน 32,000 ล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไม่เกินร้อยละ 50 ไม่เกิน วงเงิน 1 ล้านบาทต่อราย วงเงิน 16,000 ล้านบาท ส่วนอีกส่วนหนึ่งสนับสนุนการปรับเปลี่ยนการผลิต เพื่อช่วยเหลือทั้งระบบน้ำ การสร้างโรงเรือน เครื่องจักรกล จากนั้น ธ.ก.ส.พร้อมปล่อยสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย วงเงิน 30,000 ล้านบาท
3.โครงการสร้างความยั่งยืนเศรษฐกิจฐานราก (ตั้งมั่น) สนับสนุนสถาบันเกษตรกร 7,255แห่ง ลงทุนปัจจัยพื้นฐาน เช่น ระบบน้ำ เครื่องจักรกล โรงเรือน ของบประมาณสนับสนุน 21,765 ล้านบาท เพื่อให้รัฐช่วยลงทุนครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกส่วนหนึ่งให้ ธ.ก.ส.ปล่อยสินเชื่อผ่อนปรนธุรกิจชุมชนสร้างไทย 20,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อประกอบการเกษตร 40,000 ล้านบาท เพื่อให้มีทุนหมุนเวียน
ผจก. ธ.ก.ส. สรุปว่า วงเงินที่ ธ.ก.ส.จะขอสนับสนุนจากรัฐบาลรวม 5.5 หมื่นล้านบาท และเป็นเงินของ ธ.ก.ส.เอง ที่จะนำไปปล่อยกู้ผ่านโครงการสินเชื่อต่างๆ อีก 4.8 แสนล้านบาท อาทิ โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน 10,000 ล้านบาท สินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ 10,000 ล้านบาท สินเชื่อ New Gen ฮักบ้านเกิด 60,00 ล้านบาท สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย 50,000ล้านบาท สินเชื่อผู้ประกอบการเกษตร 40,000 ล้านบาท และสินเชื่อระยะสั้นสำหรับฤดูกาลใหม่ 300,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ธ.ก.ส.มีแนวในการจัดทำบัตรเกษตรกร แจกจ่ายให้กับเกษตรทั้ง 10 ล้านคน พร้อมกับจัดสรรวงเงินกู้เพื่อให้มีเงินทุนหมูนเวียนในการประกอบอาชีพ
ขณะที่ นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ตั้งข้อสังเกตสั้นๆ ว่า การดำเนินโครงการต่างๆ จำเป็นจะต้องนำเทคโนโลยีมาเสริมสร้างชุมชนให้มีความเข็มแข็ง และต้องมีระบบพี่เลี้ยงคอยดูแล ซึ่งตนพร้อมจะประสานกับกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้เข้ามาส่งเสริมในด้านเครื่องมือ เครื่องจักรช่วยเหลือเกษตรกร ส่วนวงเงินสินเชื่อ 4.8 แสนล้านบาท ต้องพิจารณาการชดเชยภาระดอกเบี้ยในกรอบเหมาะสม เพื่อดูแลรายย่อยให้มีทุนหมุนเวียน
อีกมุมมองน่าสนใจ คือ ข้อสังเกตจาก นายวราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง ซึ่ง นายสมคิด เรียกมาใช้งานในภารกิจนี้ ระบุว่า งบประมาณจำนวน 4 แสนล้านบาท จาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ เพื่อนำมาใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจฯ ถือเป็นงบประมาณในคราวเดียวที่สูงมาก เพราะหากเป็นงบประมาณปกติ อาจต้องใช้เวลานานถึง 10 ปี จึงได้งบก้อนนี้มา ดังนั้น จึงอยากฝากไปยัง ธ.ก.ส. และหน่วยงานอื่นๆ ให้ช่วยกันคิดโครงการที่ยั่งยืน และดึงให้คนที่เข้าร่วมโครงการอยู่ดำเนินงานให้นานที่สุด เพราะหากมีการทิ้งงานกลางครัน เพราะกลับไปประกอบอาชีพเดิมในกรุงเทพฯหรือเมืองใหญ่ๆ จะกลายเป็นการสูญเปล่าของงบประมาณจำนวนมหาศาล ทันที
อีกทั้งงบประมาณที่ขอกันมา อาจไม่ได้ตามที่คาดหวัง เนื่องจากมีหลายหน่วยงานที่ต่างก็เสนอโครงการดีๆ เข้ามา จำเป็นจะต้องประสานงานเพื่อดึงเอางบประมาณจากส่วนอื่นๆ มาร่วมในการดำเนินโครงการ เช่น งบประมาณจากระทรวงเกษตรฯ งบจากองค์การบริหารการปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แม้กระทั่งงบประมาณจากผู้ว่าราชการจังหวัด และงบกลุ่มจังหวัด ซึ่งงบประมาณเหล่านี้ มีอยู่แม้จะไม่มาก แต่หากรู้จักเชื่อมโยงและนำมาใช้ เชื่อว่าจะเกิดประโยชน์อย่างมากต่อท้องถิ่นนั้นๆ ต่อไป.