ราคาที่ดิน ‘คูคต-ลำลูกกา’ ปรับสูงขึ้น 61.3%
ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ เผยราคาที่ดินไตรมาสแรกปี 63 สวนกระแสเศรษฐกิจชะลอตัว ปรับขึ้น27.7% โซน 5 แนวรถไฟฟ้า ขยับขึ้นต่อเนื่อง สายสีเขียวเหนือ คูคต-ลำลูกกา ขึ้นสูงสุด 61.3% ต่อเนื่องถึง 4 ไตรมาส
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ หรือ REIC เปิดเผยว่า ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ทำการติดตามการเปลี่ยนแปลงของราคาโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล เพื่อจัดทำ “ดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนา” เป็นรายไตรมาส โดยในไตรมาส 1 ปี 2563 พบว่า ดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนา มีค่าเท่ากับ 293.3 จุด เพิ่มขึ้น 3.0 % เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) และเพิ่มขึ้น 27.7 % เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยทำเลที่มีราคาเพิ่มมาก ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลายสายรถไฟฟ้าที่เป็นส่วนต่อขยาย หรือสายรถไฟฟ้าที่มีแผนจะเปิดให้บริการในอนาคตอันใกล้
สำหรับที่ดินที่มีแนวเส้นทางรถไฟฟ้าผ่านและมีราคาที่ดินเพิ่มสูงสุด 5 อันดับแรก เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) ได้แก่ 1.โซนรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ (คูคต-ลำลูกกา) ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายของสายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ที่ยังไม่เริ่มก่อสร้าง ราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 61.3 % เป็นทำเลที่มีการเพิ่มขึ้นของราคาที่ดินมากที่สุดต่อเนื่องมา 4 ไตรมาสแล้ว
2.โซนรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 45.1% , 3.โซนรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน (ตลิ่งชัน-ศาลายา) ซึ่งเป็นโครงการที่มีแผนจะก่อสร้างในอนาคต ราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 20 % ,4.โซนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (บางแค-พุทธมณฑลสาย 4) ซึ่งเป็นโครงการที่มีแผนจะก่อสร้างในอนาคต ราคาที่ดินเพิ่มขึ้น15.3% และ 5.โซนรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ (สมุทรปราการ-บางปู) ซึ่งเป็นโครงการที่มีแผนจะก่อสร้างในอนาคต และสายสีเขียวใต้ (แบริ่ง-สมุทรปราการ) ซึ่งก่อสร้างเสร็จและเปิดให้บริการแล้ว ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นเท่ากัน 11.7%
นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด กล่าวว่า วิกฤตไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ เป็นปัจจัยเร่งให้ผู้ประกอบการมองที่กำลังซื้อคนไทยเป็นหลัก และพัฒนาโครงการหรือตั้งราคาขายให้สอดคล้องต่อกำลังซื้อคนไทย ขณะที่ตลาดคอนโดฯในไตรมาสแรกปี 63 เปิดตัว 4,611 ยูนิต ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าประมาณ 59% และลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 62 ประมาณ 32%
“อัตราการขายคอนโดฯเปิดขายใหม่ในไตรมาสแรก ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของคนไทยที่ลดต่ำลงได้เป็นอย่างดี และไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นกลับมาในเร็วๆ นี้ ขณะที่กำลังซื้อของชาวต่างชาติก็หายไปจากตลาดเช่นกัน เพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หลายๆ ประเทศทั่วโลกระงับการเดินทางเข้าออก ทั้งของคนในประเทศเขาเองและของชาวต่างชาติอีก โดยเฉพาะไม่มีผู้ซื้อคนจีนเข้ามาเพิ่มสีสันในประเทศไทยเลย ผู้ประกอบการต้องยืดระยะเวลาในการผ่อนดาวน์ออกไป เพื่อรอลูกค้าจีนกลับมาเพราะไม่อยากเสียลูกค้ากลุ่มนี้ไป”.