คปภ.ออก 4 กรมธรรม์ รับจำนำข้าวนาปีสู้วิกฤต
คปภ.ลุยโครงการประกันภัยข้าวนาปี/63 รับมติ ครม. พร้อมผุด 4 กรมธรรม์ หวังชวนเกษตรกรเลือกใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยง สู้ภัยธรรมชาติ พร้อมฝ่าวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) กล่าวถึง มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 เม.ย. ซึ่งเห็นชอบตามข้อเสนอกระทรวงการคลัง ในการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 ต่อเนื่องจากปี 2562 เพื่อให้เกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวนาปี ได้มีเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ และภัยจากศัตรูพืช หรือโรคระบาด ซึ่งในปีนี้ได้กำหนดเป้าหมายสูงสุด 45.7 ล้านไร่ และภาครัฐให้การสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัย รวม 2,910.39 ล้านบาท
มติครม.ดังกล่าว ได้มอบหมายให้ สำนักงาน คปภ. ปรับปรุงกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปีให้เป็นไปตามรูปแบบ และหลักเกณฑ์การรับประกันภัยของโครงการฯ ปีการผลิต 2563 รวมทั้งอนุมัติกรมธรรม์และอัตราเบี้ยประกันภัยให้แล้วเสร็จและสามารถเริ่มรับประกันภัยในปีการผลิต 2563 ได้ทันที ภายหลัง ครม.ได้ให้ความเห็นชอบ และดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนประชาสัมพันธ์โครงการฯ ปีการผลิต 2563 ในภาพรวมและเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ.ได้เตรียมความพร้อมและเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการฯ ตามนโยบายของรัฐบาลแล้ว โดยปีนี้ได้มีการปรับปรุงกรมธรรม์ข้าวนาปีให้มีความพิเศษและเหมาะสมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา ตนในฐานะนายทะเบียนได้ลงนามให้ความเห็นชอบแบบและข้อความกรมธรรม์ประกันภัยและอัตราเบี้ยประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จำนวน 4 แบบกรมธรรม์ ดังนี้
1.กรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 เพื่อกลุ่มลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), 2.กรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 เพื่อกลุ่มเกษตรกรพื้นที่เสี่ยงภัยต่ำ, 3.กรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 สำหรับกลุ่มเกษตรกรรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) และ 4.กรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 สำหรับกลุ่มเกษตรกรรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ส่วนเพิ่ม
โดยมีบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการฯในปีนี้ จำนวน 17 บริษัท ได้แก่ บมจ.กรุงเทพประกันภัย, บมจ.กรุงไทยพานิชประกันภัย, บมจ.เจพีประกันภัย, ซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย), บมจ.ทิพยประกันภัย, บมจ.ไทยไพบูลย์ประกันภัย, บมจ.ไทยศรีประกันภัย, บมจ.นวกิจประกันภัย, บมจ.ประกันภัยไทยวิวัฒน์, บมจ.ฟอลคอนประกันภัย, บริษัท มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันส์ จำกัด สาขาประเทศไทย, บมจ.เมืองไทยประกันภัย, บมจ.วิริยะประกันภัย, บมจ.สินมั่นคงประกันภัย, บมจ.อาคเนย์ประกันภัย, บมจ.แอกซ่าประกันภัย และ บมจ.แอลเอ็มจีประกันภัย เริ่มรับประกันภัยในปีการผลิต 2563 ได้ทันทีภายหลัง ครม.ได้ให้ความเห็นชอบโครงการฯ และวันสิ้นสุดการขายจะแตกต่างกันไปตามภูมิศาสตร์ คือ วันที่ 30 เม.ย., 31 พ.ค. และ30 มิ.ย. ยกเว้น 14 จังหวัดภาคใต้วันที่ 31 ธ.ค.2563
เลขาธิการ คปภ. ย้ำว่า โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 สำหรับเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. จะจ่ายเบี้ยประกันภัย (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) ในส่วนความคุ้มครองพื้นฐาน (ส่วนที่ 1) อยู่ที่ 97 บาทต่อไร่ ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยรัฐบาลอุดหนุน 58 บาทต่อไร่ และ ธ.ก.ส. อุดหนุนอีก 39 บาทต่อไร่ ส่วนเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ที่จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยเพิ่มเอง และเกษตรกรทั่วไป จะจ่ายตามพื้นที่ความเสี่ยงภัย (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม)
กล่าวคือ ถ้าเป็นพื้นที่สีแดงมีความเสี่ยงภัยสูง จ่ายเบี้ยประกันภัย 230 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุน 58 บาทต่อไร่ เกษตรกรจ่ายเอง 172 บาทต่อไร่ พื้นที่สีเหลืองมีความเสี่ยงภัยปานกลาง จ่ายเบี้ยประกันภัย 210 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุน 58 บาทต่อไร่ ส่วนที่เหลือเกษตรกรจ่ายเอง 152 บาทต่อไร่ และพื้นที่สีเขียว จ่ายเบี้ยประกันภัย 58 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุน 58 บาทต่อไร่
สำหรับอัตราเบี้ยประกันภัยความคุ้มครองส่วนเพิ่ม (ส่วนที่ 2) เกษตรกรจะจ่ายเบี้ยประกันภัยเองทั้งหมดตามพื้นที่ความเสี่ยงภัย โดยถ้าเป็นพื้นที่สีแดงมีความเสี่ยงภัยสูง จ่ายเบี้ยประกันภัย 101 บาทต่อไร่ พื้นที่สีเหลืองมีความเสี่ยงภัยปานกลาง จ่ายเบี้ยประกันภัย 48 บาทต่อไร่ และพื้นที่สีเขียว จ่ายเบี้ยประกันภัย 24 บาทต่อไร่ (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม)
โดยกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 ให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัยน้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้ง หรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ และภัยจากช้างป่า สำหรับความคุ้มครองพื้นฐาน (ส่วนที่ 1) อยู่ที่ 1,260 บาทต่อไร่ ความคุ้มครองส่วนเพิ่ม (ส่วนที่ 2) อยู่ที่ 240 บาทต่อไร่ และภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด ตามความคุ้มครองพื้นฐาน (ส่วนที่ 1) อยู่ที่ 630 บาทต่อไร่
ขณะที่ ความคุ้มครองส่วนเพิ่ม (ส่วนที่ 2) อยู่ที่ 120 บาทต่อไร่ ซึ่งภัยดังกล่าวผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีการประกาศเป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ดังนั้น เกษตรกรที่ทำประกันภัย (ส่วนที่ 1 + ส่วนที่ 2) ในคราวเดียวกัน จะได้รับความคุ้มครองอยู่ที่ 1,500 บาทต่อไร่ และจะได้รับความคุ้มครองจากภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด 750 บาทต่อไร่
เลขาธิการ คปภ. กล่าวอีกว่า เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรชาวนาและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานตามโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 สำนักงาน คปภ. จึงได้จัดทำ โครงการ “อบรมความรู้ประกันภัย Training for the Trainers” สำหรับการประกันภัยข้าวนาปีต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 โดยในปีนี้จะมีการลงพื้นที่ให้ความรู้เกี่ยวกับประกันภัยข้าวนาปี จำนวน 5 ครั้ง ใน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี อุตรดิตถ์ กาฬสินธุ์ และ พัทลุง
อย่างไรก็ดี สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงมีความรุนแรงและต่อเนื่อง สำนักงาน คปภ. จึงได้เตรียมความพร้อมในการให้ความรู้แบบคู่ขนานไปกับการลงพื้นที่ ด้วยการปรับวิธีการให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยจัดทำวีดิทัศน์การบรรยายความรู้จากวิทยากร 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงาน คปภ. สมาคมประกันวินาศภัยไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมส่งเสริมการเกษตร และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำหรับถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน
นอกจากนี้ ได้ดำเนินการผลิตสื่อความรู้ในรูปแบบต่างๆ เพื่อเพิ่มช่องทางให้เกษตรกรชาวนาสามารถเข้าถึงได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น เช่น การจัดทำสื่อวีดิทัศน์ในรูปแบบกราฟฟิกเคลื่อนไหว (Motion graphic) การใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของเกษตรกร (influencer) ในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้ การจัดทำสื่อความรู้ในรูปแบบคลิปเสียง การจัดทำข้อมูลความรู้เพื่อเผยแพร่ผ่าน Application “กูรูประกันข้าว” โดยสามารถดาวน์โหลดผ่าน QR code รวมถึงการผลิตสื่อความรู้ในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์ โดยจะได้มีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเผยแพร่สื่อความรู้ต่างๆ ผ่านช่องทางที่เข้าถึงเกษตรกรชาวนาให้มากที่สุด
“คปภ.มุ่งมั่นที่จะร่วมยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวนาไทยให้มีความมั่นคง เนื่องจากอาชีพทำนามีความเสี่ยงสูง เพราะต้องพึ่งพิงปัจจัยทางธรรมชาติ จึงจำเป็นต้องมีระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงและสร้างภูมิคุ้มกัน จึงอยากเชิญชวนเกษตรกรชาวนาทุกคนให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยข้าวนาปี ซึ่งปีนี้มีกรมธรรม์ให้เลือกถึง 4 แบบ ทั้งแบบกรมธรรม์ที่รัฐบาลให้การอุดหนุนเบี้ยประกันภัย และแบบกรมธรรม์ที่เกษตรกรชาวนาสามารถซื้อเพื่อเพิ่มความคุ้มครองด้วยตัวเอง” เลขาธิการ คปภ. ระบุ
อนึ่ง หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186.