“บิ๊กตู่”แม่ทัพปราบไวรัส โควิด-19
“ผมในฐานะแม่ทัพ จะไม่ยอมให้กำลังหลักของเรา ต้องต่อสู้ภายใต้ความขาดแคลนไม่ได้อย่างเด็ดขาด และต้องมีขวัญ กำลังใจที่เข้มแข็งอยู่เสมอ เพื่อมีพลังเอาชนะวิกฤตครั้งนี้ ให้ได้” แถลงการณ์ไฮไลท์ที่สำคัญ และถือเป็นวรรคทองของค่ำคืนนี้ ( 2 เม.ย.) ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และกล่าวต่อไปว่า
“ ขอยืนยันว่าเรามียาที่จำเป็นในการรักษาอย่างเพียงพอ และมีแผนการจัดหาเพิ่มเติมจากต่างประเทศ เพื่อเตรียมพร้อม สำหรับสถานการณ์ที่อาจลุกลามได้ ”
พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะแม่ทัพของประเทศที่ประกาศจะรับมือกับโควิด -19 ให้ได้ เพราะตลอดช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีของไทยปฏิเสธ และไม่เห็นด้วยการกับประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศไทย
แต่การประกาศล่าสุด ซึ่งในระยะเวลาไม่ถึง 10 นาที ได้ทำให้ประชาชนได้ตระหนักถึงพิษภัยของโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จากผู้ป่วยเพียงไม่กี่คน ทะลุตัวเลขหลักพันคน และกำลังจะเข้าใกล้ตัวเลขสองพันคนในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
ดังนั้น การประกาศเคอร์ฟิว ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.เป็นต้นไป ในช่วงเวลาระหว่าง 22.00-04.00 น.ทุกวัน โดยไม่กำหนดเวลายกเลิกเคอร์ฟิว แสดงให้เห็นภัยของโควิด-19 ไวรัสตัวใหม่นี้ ได้ทำลายชีวิต ความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของไทยจนไม่อาจจะหยุดยั้งได้ง่ายๆ หากรัฐบาลไม่ตัดสินใจใช้ยาแรง เพื่อปรามปราบ หรือสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสให้อยู่หมัด
นอกจากนี้ คำสั่ง ฉบับที่ 2 ซึ่งออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ยังกำหนดโทษของผู้ฝ่าฝืนและกระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และนายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวย้ำ ถึงโทษที่รุนแรงของผู้ประกอบการที่กักตุนสินค้า ทำให้ราคาสินค้าภายในประเทศแพงขึ้น จะมีอัตราโทษสูง จำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
และยังได้กล่าวย้ำถึงผลงานของรัฐบาลในที่ช่วงที่ผ่านมา เพื่อลดภาระและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน อาทิ เงินช่วยเหลือ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน รวมเป็น 15,000 บาท การคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าและการใช้น้ำ รวมทั้งลดค่าน้ำ-ค่าไฟ 3 เดือน สำหรับทุกครัวเรือน
ขณะที่ ผู้ประกอบการและ SME รัฐบาลก็จะช่วยคืนสภาพคล่อง – ลดภาระค่าใช้จ่าย – บริหารหนี้เดิมไม่ให้เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล รวมถึงมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำสุด มาตรการด้านภาษีและการเงิน อีกหลายมาตรการ เพื่อทำให้ทุกคน ทุกฝ่าย มั่นใจได้ว่า “เราไม่ทิ้งกัน”
โดยพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า จากผลการดำเนินการตามมาตรการต่างๆ อย่างเคร่งครัด จะทำให้สถานการณ์ขณะนี้อยู่ในระดับที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ คือ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวัน ไม่ถึง 20% และไม่ได้สูงถึง 33% ที่เป็นระดับของหลายประเทศมีการแพร่ระบาดอย่างหนัก
ดังนั้น เป้าหมายของเรา คือ “ขจัดโรคภัยและเชื้อร้ายนี้ ให้ได้โดยเร็วที่สุด และทุกคนปลอดภัย” นายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มความมั่นใจให้กับคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งถือเป็นแถลงการณ์ที่ดีที่สุด เท่าที่นายกฯ เคยแถลงต่อหน้าประชาชน 65 ล้านคน
ทั้งนี้ ในช่วงระยะเวลาเพียง 2 เดือน รัฐบาลไทยได้ออกมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบประชาชนจากโควิด-19 คิดเป็นการใช้เงินผ่านงบประมาณ และนอกงบประมาณมากกว่า 600,000 ล้านบาท
ล่าสุด นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลกระทรวงการคลัง กำลังเสนอมาตรการชุดใหม่ ซึ่งคาดว่า จะใช้เงินจำนวนมากไม่น้อยกว่า 500,000 ล้านบาท เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจไทยไม่ให้ดิ่งเหว หรือเป็นเส้นกราฟ “ตกท้องช้าง” อย่างที่ ธปท.คาดว่า ปีนี้ เศรษฐกิจไทยจะติดลบทุกไตรมาส และตลอดทั้งปี เศรษฐกิจไทยจะติดลบ 5.3% ถือเป็นเรื่องเลวร้ายที่สุด นับตั้งแต่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง เมื่อปี2540 หรือเมื่อกว่า 20 ปีมาแล้ว
สำหรับสถานการณ์ล่าสุด ณ วันที่ 2 เม.ย. จากข้อมูลของ worldometers นับตั้งแต่โควิด-19 อุบัติขึ้นในจีนเมื่อเดือนธ.ค.2019 ได้ คร่าชีวิตผู้คนแล้วมากกว่า 46,000 คน และมีผู้ติดเชื้อทั่วโลกแล้วอย่างน้อย 920,000 คน ขณะที่ประเทศไทย (2เม.ย.) พบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 104 ราย รวมยอดสะสม 1,875 ราย เสียชีวิต 15 ราย
WHO หรือ “ฮู” ได้ออกแถลงการณ์ว่า ในอีก 5 วันข้างหน้า (7เม.ย.) คาดว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะแตะระดับ 1 ล้านคนและเสียชีวิตมากกว่า 50,000 คน.