“อุตตม” ยัน! ไม่กู้ IMF – ชี้เฟส 3 ใหญ่กว่า 2 เฟสแรกแน่!
“อุตตม” ยัน! เศรษฐกิจไทยยังแกร่ง เหตุรัฐ “ถังไม่แตก!”ขับเคลื่อนมาตรการฯเฟส 3 ได้ โดยไม่ต้องกู้ไอเอ็มเอฟ เผยทั้งชุดมาตรการและงบประมาณของชุดใหม่ ใหญ่กว่า “2 ชุดแรกรวมกัน” ด้านคนลงทะเบียนรับ “5 พัน” ยอดยังคงพุ่ง ล่าสุด ช่วงบ่าย 2 วันที่ 30 มี.ค. พบทะลุเกิน 19.8 ล้านราย ย้ำ! ยังเปิดรับลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com แต่ทุกคนที่ลงทะเบียน อาจไม่ได้เงินเยียวยา
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง พร้อมด้วย นายลวรณ แสงสนิท ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง และ นายผยง ศรีวณิช กก.ผจก.ใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ร่วมกันแถลงข่าวเกี่ยวกับความคืบหน้าของมาตรการเยียวยา 5,000 บาท (3 เดือน) ที่เว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ จนถึงเวลา 14.00 น. พบว่า มีผู้ลงทะเบียนแล้วรวม 19.8 ล้านราย ซึ่งในภาพรวมหลังการปรับเพิ่มสมรรถนะของระบบการลงทะเบียนแล้ว การลงทะเบียนดำเนินไปได้อย่างราบรื่น
นายอุตตม ย้ำว่า คนทำงานที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส Covid-19 โดยเฉพาะแรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ถูกเลิกจ้าง โดนลดเวลาทำงานที่ส่งผลต่อรายได้ โดนลดเงินเดือน หรือสถานประกอบการถูกปิด มีสิทธิได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท โดยทั้งหมดยังสามารถเข้ามาลงทะเบียนที่ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ได้ต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน และยังไม่มีกำหนดปิดรับลงทะเบียน เพื่อให้มั่นใจว่าคนทำงานที่ได้รับความเดือดร้อนจะได้รับการเยียวยาอย่างทั่วถึง
อย่างไรก็ดี การลงทะเบียนสำเร็จ มิได้หมายความว่าจะได้รับเงินโดยอัตโนมัติ เนื่องจากผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน (ตั้งแต่เดือน เม.ย. – มิ.ย. 2563) จะต้องผ่านการตรวจสอบและคัดกรองตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดก่อนจึงจะได้รับสิทธิ
“เราตั้งเป้าไว้ว่าจะมีกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม และได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ประมาณ 3 ล้านคน แม้จะมีการลงทะเบียนมากกว่าเป้าหมาย แต่จะยังไม่ปิดรับลงทะเบียน เพราะต้องการเปิดโอกาสให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบและมีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนด ได้เข้าถึงโอกาสในการรับสิทธิ์เยียวยา แต่ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนที่ลงทะเบียนได้ จะได้รับเงินเยียวทั้งหมด เพราะคนที่จะได้ต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดเอาไว้” นายอุตตม ย้ำ
ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการจ่ายเงินเยียวยาถูกต้องและถึงมือผู้ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง โดยการประมวลผลจะใช้เวลาอย่างเร็วที่สุด 7 วันทำการ ในกรณีที่ข้อมูลครบถ้วนถูกต้อง แต่จากจำนวนผู้ให้ความสนใจลงทะเบียนมีมากกว่าที่คาดไว้มาก อาจทำให้การดำเนินการในขั้นตอนนี้ใช้เวลามากขึ้น
“ขณะนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพยายามเร่งทำงานอย่างเต็มที่ ซึ่งแผนงานและโครงการในมาตรการเศรษฐกิจ ระยะที่ 3 จะสัมพันธ์กับงบประมาณที่จะใช้ แต่ยังตอบไม่ได้ว่าจะเป็นเท่าใด แต่ขอยืนยันว่ารัฐบาลยังมีศักยภาพพอที่จะดำเนินโครงการในลักษณะที่เป็นทั้งการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจไปพร้อมกัน โดยจะดูแลคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 หรือกลุ่มผู้ประกอบการ รวมถึงสถาบันการเงิน ซึ่งทั้งหมดจะได้รับการดูแลไปพร้อมกัน” รมว.คลัง ระบุและว่า
มาตรการเศรษฐกิจระยะที่ 3 นี้ จะยึดโยงการดำเนินงานอย่างเป็นระบบเข้าไว้ด้วยกัน เชื่อว่าจะมีขนาดของชุดมาตราการ และงบประมาณโครงการ มากกว่าระยะที่ 1 และ 2 รวมกัน
ทั้งนี้ รัฐบาลและกระทรวงการคลัง ขอยืนยันว่า ไม่มีความจำเป็นจะต้องกู้ยืมเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แต่อย่างใด? เพราะรัฐบาลไม่ได้อยู่ในภาวะ “ถังแตก” และสัดส่วนภาระหนี้สินต่อจีดีพี ก็ยังอยู่ในภาวะเข้มแข็มมากพอที่รัฐบาลสามารถจะเดินหน้าโครงการที่ก่อประโยชน์ต่อภาพรวมอย่างเหมาะสมต่อไปได้ โดยสามารถจะแหล่งเงินทั้งจากในกรอบวงเงินงบประมาณและนอกงบประมาณได้อย่างแน่นอน
นอกจากนี้ การใช้จ่ายงบประมาณในโครงการใดๆ ก็ยังมี สำนักงบประมาณ คอยตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง ทั้งเพื่อความโปร่งใสและการมีประสิทธิภาพของการดำเนินงานเพื่อประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจไทย รวมถึงภาคประชาชน ผู้ประกอบการ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อไป
ส่วนผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทำให้จีดีพีของปี 2563 ต่ำถึงขนาด -5% เช่นที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์เอาไว้หรือไม่? ตนยังตอบไม่ได้ เนื่องจากไม่ทราบว่าปัญหาโควิด-19 จะไปสิ้นสุดเมื่อใด.