ปธพ.8 ติวรับมือ “วายร้าย ไวรัส โควิด 19”
ปธพ.8 จัดเสวนา ให้ความรู้และรับมือโควิด 19 กรมควบคุมโรคยันต้องยื้อเวลาก่อนเข้าระยะ 3 ให้นานที่สุดเพื่อเตรียมความพร้อมทุกด้าน เลขาธิการแพทยสภายันข้อมูลองค์การอนามัยโลกระบุ คนไม่ป่วยไม่ต้องใช้หน้ากาก สิ่งที่น่ากลัวคือสมาร์ทโฟนที่สัมผัสกับหน้าตลอด แนะล้างมือ สระผมบ่อยๆ ส่วนรองผอ.บำราศนราดูรย้ำรับมือได้
นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวระหว่างร่วมเสวนา “วายร้าย ไวรัส โควิด 19” จัดโดย นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง (ปธพ.) รุ่นที่ 8 ว่า สถานการณ์โควดิด 19 ในไทยยังอยู่ระยะที่ 2 ดังนั้น จะต้องยืดเวลาให้นานที่สุดเพื่อเตรียมความพร้อมต่างๆ ก่อนเข้าสู่ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของโรค ไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนกมากจนเกินไป
ด้าน พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า จากข้อมูลสถิติปัจจุบันทุก 100 คนที่ป่วยเหมือนไข้หวัดจะหายได้ 80 คน 20 คนมีอาการมากจนต้องพบแพทย์ ต้องนอนในโรงพยาบาลเฉลี่ย 20-40 วัน และเสียชีวิต 1-3 คน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องการยืดเวลาก่อนเข้าสู่ระยะที่ 3 ให้นานที่สุดเพื่อเตรียมการรับมือในการรักษาและรอยาที่ใช้รักษาได้ดีที่สุด ปัจจุบันทั่วประเทศมีเตียงรับคนป่วยได้ประมาณ 150,000 เตียง ใช้งานอยู่กว่า 85% ซึ่งไม่เพียงพอหากระบาดเข้าระยะ 3 ต้องเตรียมเตียงสำรองเช่นประเทศ จีน กรณีโรงพยาบาลใดที่จะรองรับผู้ป่วยโควิด 19 ตอนนี้ คนไข้อื่นก็จำเป็นต้องย้ายไปใช้โรงพยาบาลอื่นเพื่อป้องกันติดต่อ จึงต้องให้โรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ อย่างรพ.จุฬา ศิริราช หรือรามาธิบดี ไม่ใช่เป็นฐานในการรับผู้ป่วยโควิด 19 เพื่อไม่ให้กระทบผู้ป่วยอื่น และต้องพิจารณาหาพื้นที่พักผู้ป่วยสำรอง
“การที่ขณะนี้ประชาชนแห่ไปซื้อหน้ากากอนามัยกันมากจนขาดตลาดเป็นเพราะทุกคนต้องการความปลอดภัย ทั้งนี้ข้ อมูลองค์การอนามัยโลกระบุว่าสภาวะปัจจุบัน คนไม่ป่วยยังไม่จำเป็นต้องใช้หน้ากาก หากจะใส่แพทยสภา และกรมอนามัยแนะนำให้ใช้หน้ากากผ้าเพียงพอ ยกเว้นถ้าต้องเข้าไปในที่ชุมชน เช่น บนรถไฟฟ้า สถานที่แออัด งานพิธีต่างๆเช่นสวดมนต์ จึงควรใช้หน้ากากอนามัย” พล.อ.ต.นพ.อิทธพร กล่าว พร้อมกับข้อสังเกตว่า
ถ้าใส่หน้ากากไม่ถูกวิธี ใช้ไม่ระวัง มีโอกาสติดเชื้อมากกว่าคนไม่ใส่ หากทิ้งไม่ถูกวิธีก็มีโอกาสแพร่เชื้อโรคให้คนอื่นได้ด้วย ใช้หน้ากากผ้าก็ป้องกันได้แล้ว ตนได้หารือกับปลัดกระทรวงสาธารณสุขจัดออกแบบหน้ากากผ้าแบบสวยๆ เพื่อเชิญชวนให้เด็กและกลุ่มวัยรุ่นใส่หน้ากากผ้ามากขึ้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงกว่าการใส่หน้ากากอนามัยก็คือ การใช้โทรศัพท์มือถือ ซึ่งสัมผัสหน้าเราอยู่ตลอด มือเราไปจับอะไรมาแล้วมาใช้มือถือ โดยที่มือถือไม่ได้ทำความสอาดเลยจะเป็นแหล่งแพร่เชื้ออย่างดี
“ช่วงนี้ควรใช้บลูธูทหรือหูฟังรับโทรศัพท์จะปลอดภัยกว่า รวมทั้งอยากแนะนำให้ประชาชนเมื่อกลับถึงบ้านแล้ว ควรรีบเปลี่ยนเสื้อผ้า อาบน้ำ สระผมทันที เพราะผมเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคเช่นกัน รวมถึงการล้างมือด้วยน้ำและสบู่ตลอด ไม่จับหน้า ปาก ขยี้ตา หรือแคะจมูก” เลขาธิการแพทยสภา ย้ำ
.
ขณะที่ นพ.วิศิษฎ์ ประสิทธิศิริกุล รองผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร กล่าวว่า ในส่วนของสถาบันตอนนี้กำลังใจและอุปกรณ์ต่างๆ รับมือกับโควิด 19 ได้ ยังขาดเพียงแพทย์และพยาบาลเท่านั้น ส่วนยารักษาซึ่งจีนได้ขึ้นทะเบียนไว้และเราได้เริ่มนำมาใช้แล้ว พอจะทราบแล้วว่าควรต้องให้ยาปริมาณเท่าใด ช่วงไหน ยิ่งเร็วยิ่งดี เพราะความเสียหายของปอดจะไม่มาก ถ้าช้าปอดจะเสียหายมาก ส่งผลให้ การใช้ชีวิตของผู้ป่วยหลังจากนี้จะไม่เหมือนเดิม.