ศูนย์ข้อมูลฯ หวังภาพศก.ฟื้นหนุนอสังหาฯ โต5-7%
ศูนย์ข้อมูลแห่งชาติประเมินอสังหาฯปี 63 ยังมีแนวโน้มเติบโต หากศก.โดยรวมปรับตัวดีขึ้น คาดตลาดขยายตัวได้สูงถึง 5-7% คาดยอดโอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศ 372,500 – 400,660หน่วย มูลค่าถึง853,100 – 917,100 ลบ.
นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (ศขอ.)ได้รับนโยบายการพัฒนาข้อมูลเพื่อไปสู่การเป็น “ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติ” โดยในช่วงเวลาที่ผ่านมา ศขอ.ได้รายงานข้อมูลซึ่งเป็นข้อเท็จจริงออกมาเผยแพร่ และใช้ฐานข้อมูลที่จัดเก็บและรวบรวมมากว่า 15 ปี พัฒนาแบบจำลองในการประเมินทิศทาง และแนวโน้มธุรกิจที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องในช่วงปีที่ผ่านมา
สำหรับตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2563 ศขอ. ได้ประเมินจากปัจจัยบวกอัตราดอกเบี้ยต่ำและเป็นขาลง มาตรการกระตุ้นอสังหาฯของรัฐบาล การผ่อนปรนเกณฑ์ LTV ของ ธปท. และปัจจัยลบ ภาวะเศรษฐกิจอยู่ในช่วงชะลอตัวในหลายกิจกรรมเศรษฐกิจที่สำคัญ การระบาดของไวรัสโคโรนา สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน(เทรดวอร์) ส่งผลให้คาดการณ์ว่า จะมีการปรับตัวในภาคธุรกิจที่อยู่อาศัย โดยการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทุกประเภททั่วประเทศจะอยู่ที่ประมาณ 372,500 – 400,660 หน่วย ขยายตัวระหว่างลบ 0.2% ถึงบวก7.3% และมีมูลค่าถึง 853,100 – 917,100 ล้านบาท ขยายตัวระหว่างลบ2.5%ถึงบวก4.8%
การโอนกรรมสิทธิ์จะอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล 197,500 – 214,300 หน่วย ขยายตัวระหว่างลบ0.2% ถึงบวก8.3% และมีมูลค่าถึง 571,200 – 614,000 ล้านบาท ขยายตัวระหว่างลบ0.2% ถึงบวก7.3% ซึ่งจะมีสัดส่วนหน่วย 53% และ มูลค่า 67% ของการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ
โดยการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั่วประเทศ จะอยู่ที่ประมาณ 117,400 – 126,780 หน่วย เป็นมูลค่าถึงประมาณ 284,360 – 305,700 ล้านบาท โดยกรุงเทพฯและปริมณฑลจะมีสัดส่วนหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ 73.6% และ มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ 78.1% ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 คาดว่าจะมีการชะลอการโอนของคนจีนบ้าง เนื่องจากสาเหตุการระบาดไวรัสโคโรนาบ้าง แต่มีผลกระทบไม่มากเนื่องจาก ผู้ซื้อห้องชุดคนจีนมีสัดส่วนพียง 6% ของผู้ซื้อทั้งหมดเท่านั้น
หน่วยที่อยู่อาศัยจากการเปิดตัวโครงการใหม่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ในปี 2563 จะอยู่ประมาณ 114,400- 122,600 หน่วย จากการคาดการณ์ตัวเลขในเครื่องชี้หลักต่างๆ คาดว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 63 น่าจะมีภาวะที่ค่อนข้างทรงตัวต่อเนื่องจากปี 2562 แต่มีโอกาสที่จะขยายตัวได้สูงถึง 5-7% หากเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศมีการขยายตัวดีขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงานและความมั่นใจของผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในการตัดสินใจที่จะซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น
ทั้งนี้ จำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลปี 62 ลดลงลบถึง 32.1% โดยอาคารชุดลดลงลบ 34.3% และ บ้านจัดสรรลดลงลบ 29 % ซึ่งจะทำให้สินค้าคงค้างในระบบ(สต๊อก)จากปี 61 จะทยอยถูกดูดซับไปมาก.