เตือนซื้อหวยปลอม-แนะถูกหวยอย่าถ่ายโชว์
สนง.สลากกินแบ่งฯ ห่วงชาวบ้านตกเป็นเหยื่อ “หวยปลอม” ระบาด เตือนตรวจสอบให้ดีก่อนซื้อ แนะดู “ลายน้ำ-หมึกไหม” ที่มีเฉพาะสลากฯตัวจริง แนะคนถูกหวยรางวัลใหญ่ แจ้ง ตร.ลง ปจว.ได้ แต่อย่าถ่ายโชว์สลากฯถูกรางวัล หวั่นมิจฉาชีพก็อปปี้ขึ้นเงินแทน ด้าน ธ.ก.ส.รับสิทธิ์เป็นตัวแทนรับขึ้นรางวัล ผ่านกว่า 1,200 สาขาทั่วไทย แย้ม! ขึ้นได้ในวันหวยออก แต่รอหลัง 6 โมงเย็น เฉพาะสาขาในห้างฯเท่านั้น
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ร่วมลงนามกับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อเป็นตัวแทนรับขึ้นรางวัลสลากของสำนักงานสลากกินแบ่งฯ เป็นรายแรก ผ่านเคาน์เตอร์สาขาของ ธ.ก.ส. ทั้ง 1,272 สาขาทั่วประเทศ สร้างทางเลือกให้แก่ผู้ถูกรางวัลให้สามารถรับเงินรางวัลได้ง่ายยิ่งขึ้น ปลอดภัยขึ้น โดยสามารถขึ้นเงินได้ทุกรางวัล ยกเว้นรางวัลที่ 1
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผจก. ธ.ก.ส. กล่าวว่า ปกติผู้โชคดีที่ถูกรางวัลของสำนักงานสลากกินแบ่งฯจะเสียค่าอากรแสตมป์/ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ให้กับสำนักงานสลากกินแบ่งฯ 0.5% ของมูลค่าเงินรางวัล แต่หากมาขึ้นเงินกับ ธ.ก.ส.จะต้องจ่ายเพิ่มธรรมเนียมอีก 1.0%
ทั้งนี้ ธ.ก.ส. จะทำการจ่ายเงินรางวัลเฉพาะงวดปัจจุบันที่ออกรางวัลเพียงงวดเดียว บริการดังกล่าวช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ถูกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล อีกทั้งสามารถฝากเงินเข้าบัญชีหรือทำธุรกรรมอื่นๆ ที่ ธ.ก.ส. สาขาได้ทันที นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมการออมให้กับลูกค้าปัจจุบันและประชาชนทั่วไปที่ยังไม่ได้เป็นลูกค้า ให้สามารถฝากเงินกับ ธ.ก.ส. ได้ง่ายยิ่งขึ้น
“เราได้มีการเตรียมความพร้อมในการให้บริการผ่านการจัดอบรมหลักสูตร “การให้บริการจ่ายเงินรางวัลสลากของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล” ให้กับพนักงานประจำสาขา เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ ทักษะต่าง ๆ เกี่ยวกับการจ่ายเงินรางวัลและการตรวจพิสูจน์สลาก โดยจะเริ่มเปิดให้บริการในงวดการออกรางวัล งวดประจำวันที่ 1 มี.ค.2563 เป็นต้นไป ณ สาขา ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ” นายอภิรมย์ ย้ำและว่า ผู้ถูกรางวัลฯสามารถขึ้นเงินในวันเดียวกับที่ออกสลากฯได้ที่สาขาของ ธ.ก.ส. ที่เปิดให้บริการในห้างสรรพสินค้า ซึ่งมีราว 10 แห่ง ภายหลังเวลา 18.00 น. โดยที่สำนักงานสลากกินแบ่งฯ จะส่งข้อมูลมาให้ ธ.ก.ส.อย่างเป็นทางการ
ด้าน พ.ต.อ.บุญส่ง จันทรีศรี ผอ.สำนักงานสลากกินแบ่งฯ กล่าวว่า สาขาของ ธ.ก.ส.มีระบบการตรวจสอบสลากด้วยเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ทันสมัย ได้มาตรฐาน และเจ้าหน้าที่ซึ่งผ่านการอบรมในเรื่องการให้บริการจ่ายเงินรางวัลโดยเฉพาะ จึงไม่มีปัญหาเรื่องการจ่ายเงินให้กับสลากฯปลอม อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ มีมิจฉาชีพจัดพิมพ์สลากฯปลอมมาหลอกขายให้กับประชาชน จำเป็นจะต้องตรวจสอบให้รอบคอบ โดยพิจารณาที่ลายน้ำ และหมึกไหม ซึ่งหากเป็นสลากฯจะไม่ปรากฏชัด เนื่องจากเป็นการถ่ายเอกสารสี ทั้งนี้ สำนักงานสลากฯกำลังคิดหาแนวทาง เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบว่าเป็นสลากฯจริงหรือปลอม โดยพิจารณาจากการจัดพิมพ์ธนบัตรเพื่อนำมาเป็นต้นแบบต่อไป
“ขอเตือนผู้ที่ถูกสลากฯว่า หากประสงค์จะไปแจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวัน ก็สามารถทำได้ แต่อย่าถ่ายรูปสลากฯที่ถูกรางวัล แล้วนำไปโพสต์โชว์ผ่านโซเชียลมีเดีย เพราะมิจฉาชีพอาจก็อปปี้สลากฯที่ถูกรางวัล แล้วนำไปขึ้นเงินตัดหน้าได้ ซึ่งสลากฯปลอมที่มาขึ้นรางวัลกับสำนักงานสลากกินแบ่งฯ เราสามารถตรวจสอบและดำเนินดคีได้ แต่กับกลุ่มพ่อค้าที่รับขึ้นรางวัลฯ อาจตกเป็นเหยือแก๊งมิจฉาชีพได้ ซึ่งสลากปลอมฯ สาขาของ ธ.ก.ส.ก็สามารถตรวจสอบเหมือนกับที่ สำนักงานสลากกินแบ่งฯ ทำ เพราะใช้วิธีการและมาตรการเดียวกัน” ผอ.สำนักงานสลากกินแบ่งฯ กล่าวเตือน
อนึ่ง แต่ละงวด จะมีผู้ถูกรางวัลรวมชุดละ 48 ล้านบาท สำนักงานสลากฯจัดพิมพ์ 100 ชุด หมายความว่า แต่ละงวดจะมีเงินรางวัลรวม 4,800 ล้านบาท โดยหักในส่วนของรางวัลที่ 1 จำนวน 6 ล้านบาท รวม 100 ชุด เท่ากับ 600 ล้านบาท จะเหลือโอกาสที่ผู้ถูกรางวัลจะมาขึ้นเงินผ่าน ธ.ก.ส. สูงสุดมากถึง 4,200 ล้านบาท .