บก.ชี้เซฟ 7.3 หมื่นล.จากข้อตกลงคุณธรรม
กรมบัญชีกลาง แจงนับแต่ปี 58 – 63 มีหน่วยงานร่วมข้อตกลง “โครงการข้อตกลงคุณธรรม” รวมเนื้องาน 106 โครงการ มูลค่ากว่า 1.81 ล้านล้านบาท เผยประหยัดงบประมาณได้กว่า 7.3 หมื่นล้านบาท
น.ส.วิลาวรรณ พยาน้อย รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง (บก.) ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า กรมบัญชีกลางในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจหลักกำกับดูแลและบริหารการใช้จ่ายเงินของแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงกำหนดมาตรฐาน หลักเกณฑ์ แนวทางปฏิบัติด้านการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐให้เกิดความโปร่งใส ได้นำแนวคิดการทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ซึ่งเป็นข้อตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษร กำหนดให้มีการลงนามร่วมกันระหว่าง 3 ฝ่าย
ประกอบด้วย 1.หน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการ 2.ผู้ประกอบการที่จะเข้ายื่นข้อเสนอว่าจะไม่กระทำการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง และ 3.ให้มีผู้สังเกตการณ์ (Observer) ซึ่งเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ และมีความรู้ความสามารถในโครงการจัดซื้อจัดจ้างนั้นๆ เข้าร่วมสังเกตการณ์ ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำร่างขอบเขตของงานหรือรายละเอียดของพัสดุที่จะทำการจัดซื้อจัดจ้าง และร่างเอกสารเชิญชวนจนถึงสิ้นสุดโครงการ เพื่อเป็นมาตรการป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม สร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชน
ทั้งนี้ ข้อตกลงคุณธรรมได้ดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ๒๕๖๐ หมวด ๒ เรื่อง การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและผู้ประกอบการในการป้องกันการทุจริต โดยมีคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริตตามพระราชบัญญัติ (คปท.) ทำหน้าที่กำกับ ดูแล แนวทางการดำเนินงานข้อตกลงคุณธรรม
โฆษกกรมบัญชีกลาง กล่าวอีกว่า โครงการข้อตกลงคุณธรรม เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 – ปัจจุบัน โดยคณะกรรมการ ค.ป.ท. ได้คัดเลือกโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป เข้าร่วมจัดทำข้อตกลงคุณธรรม 106 โครงการ มูลค่างบประมาณรวม 1,810,376.43 ล้านบาท และมีโครงการที่ได้จัดทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างแล้ว 53 โครงการ มูลค่าสัญญารวม 160,201.87 ล้านบาท ซึ่งสามารถประหยัดงบประมาณได้ 73,047.15 ล้านบาท คิดเป็น 31.32% ของงบประมาณโครงการที่ดำเนินการจัดหา ซึ่งมีผลมาจากการที่ผู้สังเกตการณ์ได้เข้าสังเกตการณ์ และให้ข้อเสนอแนะแก่หน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการ
ทั้งนี้ โครงการข้อตกลงคุณธรรม เป็นเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐและภาคเอกชนให้ดำเนินโครงการอย่างสุจริต ทำให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง ลดช่องทางการทุจริต ก่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และทำให้การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด.