คลังสั่งลุยกระตุ้นแผนลงทุน สวนปมงบฯขัดลำกล้อง
รัฐบาลสั่งคลังเดินหน้าดันแผนลงทุนภาครัฐ หวั่นงบฯปี 63 ล่าช้า กระทบ “ปีแห่งการลงทุน” ด้าน “อุตตม” สั่งจัดด่วน! 2 แผน “จัดประชุมซีอีโอรัฐวิสาหกิจ – โรดโชว์ต่างประเทศ” กระตุ้นการลงทุน ส่วนบอร์ดอีอีซี สั่งเตรียมรับมือปม “น้ำแล้ง” พ่วงจัดงบเงินกู้กว่าแสนล้านบาท หนุนเอกชนเปลี่ยเครื่องจักรใหม่ ผ่านมาตรการอุดหนุน “หัก คชจ. 2.5 เท่า – เว้นอากรขาเข้า”
“ปี 2563 เป็นปีแห่งการลงทุน” นั่นคือ คำปกาศิตที่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” ของรัฐบาล เคยประกาศดังๆ ให้นักลงทุนรับรู้ตั้งแต่ปีที่แล้ว
ทว่าเมื่อเกิดเหตุ ส.ส.รัฐบาล “เสียบบัตรแทนกัน” กระทั่ง อาจกลายเป็นประเด็นสำคัญ ฉุดให้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 เกิดความล่าช้าไปอีก หากเรื่องนี้ ถูกขยายผลจากสภาผู้แทนราษฎรไปยังศาลรัฐธรรมนูญ
สิ่งนี้จะกระทบความเป็น “ปีแห่งการลงทุน” หรือไม่?
คำตอบที่ นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง บอกไว้ระหว่างการแถลงข่าวการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) หรือ อีอีซี ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2563 ที่กระทรวงการคลัง คือ กระทบ!
นั่นจึงเป็นเหตุทำให้ รัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง พยายามเรงรัดการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนของรัฐวิสาหกิจเดินหน้าไปให้เร็วที่สุด และนั่น นำไปสู่ 2 แนวทางสำคัญ คือ 1.การจัดประชุม “ซีอีโอ ฟอรั่ม” โดยมอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เป็นผู้ดำเนินการจัดการประชุมและเชิญชวนผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจเข้าร่วมงาน เพื่อเร่งรัดแผนการลงทุนในปี 2563 ทั้งนี้ หากติดขัดปัญหาเรื่องใด รัฐบาลพร้อมจะเข้าไปช่วยเหลืออย่างเต็มที่
และ 2.เดินสายจัดโรดโชว์ เชิญชวนผู้ประกอบการและนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย พุ่งเป้าไปยังประเทศและกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นผู้รับผิดชอบ ร่วมกับกระทรวงการคลัง แต่ยังไม่สามารถให้รายละเอียดในตอนนี้
“เรื่องความล่าช้าของงบประมาณปี 2563 เป็นที่สภาผู้แทนราษฎรจะไปดำเนินการ ในส่วนของรัฐบาล ท่านนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้สำนักงบประมาณ หารือกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหาแนวทาง หากงบประมาณฯเกิดความล่าช้าจริงๆ แต่ในส่วนของกระทรวงการคลัง คงต้องเน้นเรื่องการผลักดันให้การลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะ รัฐวิสาหกิจ เดินหน้าไปตามแผนงานของปีนี้ให้มากที่สุด” นายอุตตม ระบุ
สำหรับการประชุมคณะกรรมการอีอีซีครั้งที่ 1/2563 นั้น นายคณิต แสงสุพรรณ เลขาธิการ กบอ. กล่าวว่า ที่ประชุมฯเห็นชอบแผนบริหารจัดการน้ำในอีอีซี แบ่งเป็นแผนระยะสั้นและระยะยาว โดยแผนระยะสั้น ได้จัดเตรียมความพร้อม หากเกิดปัญหาภัยแล้ง และฝนทิ้งช่วง จนทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำ ผ่านแนวทาง 1.ให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดทำแผนลดปริมาณการใช้น้ำ 10% ในช่วง ม.ค.-มิ.ย.2563
และ 2.วางมาตรการเพิ่มปริมาณน้ำ โดยสูบน้ำกลับคลองสะพาน มายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ เพิ่มขึ้น 20 ล้านลูกบาศก์เมตร และสูบน้ำคลองหลวง ณ จุดพานทองเข้ากับท่อส่งน้ำคลองพระองค์ไชยานุชิต – บางพระ เพิ่มอีก 70 ล้านลูกบาศก์เมตร โดย บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก หรือ EASTWATER ประสานกับกรมชลประทาน เร่งดำเนินการ
นอกจากนี้ ยังมีการผันน้ำอ่างเก็บน้ำประแกด (ลุ่มน้ำวังโตนด) จ.จันทบุรี มายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ เพิ่มอีก 70 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยต้องเจรจาค่าน้ำกับคณะกรรมการลุ่มน้ำคลองวังโตนด ดำเนินการเสร็จทั้ง 3 โครงการ จะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 160 ล้านลูกบาศก์เมตร การบริหารจัดการน้ำระยะยาวให้เพียงพออย่างดี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ส่วนระยายาวนั้น สทนช. ได้จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำของปี 2563 – 2580 ภายใต้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ปี 2563 – 2580) ภายใต้วงเงินงบประมาณ 52,797 ล้านบาท แบ่งเป็น
แผนการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุน (Supply Side Management) 38 โครงการ วงเงิน 50,691.10 ล้านบาท เช่น สร้างอ่างเก็บน้ำ คลองวังโตนด อ่างเก็บน้ำ คลองโพล้ และพัฒนาระบบสูบกลับคลองสะพาน – อ่างเก็บน้ำประแสร์ เป็นต้น
แผนการบริหารจัดการด้านความต้องการใช้น้ำ (Demand Side Management) 9 โครงการ วงเงิน 1,927.15 ล้านบาท เช่น แผนการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสีย การประปาส่วนภูมิภาค สาขาต่าง ๆ ปรับระบบการเพาะปลูก เป็นต้น
รวมถึงมาตรการอื่นๆ การศึกษาจัดทำฐานข้อมูลพัฒนาน้ำบาดาล 3 โครงการ วงเงิน 178.99 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังการผลิตน้ำจืดจากทะเล (Desalination) เตรียมพิจารณาการลงทุนในอนาคต
ทั้งนี้ ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนในพื้นที่ อีอีซี คือ จะมีความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำ มีน้ำต้นทุนเพียงพอต่อความต้องการทุกภาคส่วนจนถึงปี 2580 สามารถป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน ที่อยู่อาศัย พื้นที่เศรษฐกิจแหล่งท่องเที่ยว และสถานประกอบการต่างๆ มีน้ำคุณภาพดีที่ส่งผลดีต่อสุขภาพสุขภาพประชาชน และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้านการผลิต และการบริหาร
เลขาธิการ กบอ. กล่าวอีกว่า โครงการจัดหาพลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) ในเขตอีอีซีนั้น ที่ประชุม กบอ. เห็นชอบ หลักการตามที่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) นำเสนอ โดยมีแนวทาง ดังนี้ 1.ศึกษา พัฒนา ลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานหมุนเวียนรูปแบบอื่น ๆ และระบบกักเก็บพลังงาน ในพื้นที่อีอีซี และส่วนขยาย ให้เป็นสังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อบรรลุเป้าหมายสัดส่วนเชื้อเพลิงฟอสซิล ต่อพลังงานแสงอาทิตย์ ผลิตไฟฟ้าเป็น 70 : 30
2.เร่งรัดการลงทุน ร่วมกับภาคเอกชน ให้มีการผสมผสานระหว่างการเกษตร และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ จำหน่ายในพื้นที่อีอีซี
3.สนับสนุน องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ออกแบบระบบ วางแผน สร้างกลไกคาร์บอนเครดิต สู่ระบบการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และระบบซื้อขายในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจระหว่างผู้ประกอบการในพื้นที่ มุ่งสู่การเป็น Zero Carbon City และพื้นที่สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment)
และ 4.ศึกษาความเหมาะสม และพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน ร่วมกับระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ช่วยรักษาเสถียรภาพ และบริหารความต้องการไฟฟ้าสูงสุดช่วงเวลากลางคืน
“แผนการบริหารจัดการน้ำ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เชื่อว่าจะไม่กระทบมากนัก หากงบประมาณปี 2563 เกิดความล่าช้า เนื่องจากบางส่วนเป็นโครงการร่วมทุนภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) ขณะที่บางโครงการฯ รัฐจะเปิดทางให้ภาคเอกชน และ/หรือ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้ามารับไปดำเนินการ” รมว.คลัง กล่าวและว่า
กระทรวงการคลังพร้อมสนับสนุนการให้สินเชื่อเพื่อการลงทุนจัดซื้อเครื่องจักรใหม่ โดยสามารถนำไปหักเป็นค่าใช้จ่าย 2.5 เท่า ซึ่งมากที่สุดเท่าที่เคยทำมา พร้อมกันนี้ ยังได้ยกเว้นอาการนำเข้าอีก 1 ปี โดยทั้ง 2 โครงการกินระยะเวลา 1 ปี (1 ม.ค. – 31 ธ.ค.2563) และคาดว่าจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ราว 9,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ภาครัฐและธนาคารในกำกับดูแลของรัฐ ได้จัดเตรียมวงเงินสินเชื่อรวมกันกว่า 1 แสนล้านบาท เพื่อเป็นสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการกลุ่มนี้ ซึ่งจะทำให้เกิดการลงทุนในสัดส่วนเดียวกัน.