ธุรกิจออนไลน์เติบโตเบียดแชร์ตลาดพื้นที่ค้าปลีก
“ฟินิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ฯ”ชี้แนวโน้มตลาดพื้นที่ค้าปลีกในระยะข้างหน้า ส่อชะลอตัวลง ผลกระทบพฤติกรรมผู้บริโภคนิยมการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์มากยิ่งขึ้น คาดปีนี้ตลาดค้าปลีกเติบโต 2.8% ตามภาวะเศรษฐกิจ
นายสุรเชษฐ กองชีพ. กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด เผยถึงแนวโน้มตลาดพื้นที่ค้าปลีกในกรุงเทพฯและพื้นที่โดยรอบว่า ในไตรมาส 4 ปี 2562 ตลาดพื้นที่ค้าปลีกในหลายประเทศอยู่ในช่วงยากลำบากรวมทั้งในประเทศไทย ซึ่งมองว่าช่องว่างในไทยก็อาจจะขยายตัวได้อีกเพียงไม่กี่ปีจากนี้ เนื่องจากการเติบโตของธุรกิจออนไลน์มีผลกระทบตรงต่อธุรกิจค้าปลีก ซึ่งจะเห็นได้ว่า ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกหลายรายพยายามพัฒนาช่องทางการขายและเพิ่มสัดส่วนออนไลน์ให้มากขึ้น ทั้งนี้ พื้นที่ค้าปลีกประมาณ 204,200 ตารางเมตร(ตร.ม.) เปิดให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯและพื้นที่โดยรอบ ศูนย์การค้ามีสัดส่วนมากที่สุดประมาณ 65% รองลงมา คอมมูนิตี้มอลล์ 15% พื้นที่ค้าปลีกทั้งหมดในกรุงเทพฯและพื้นที่โดยรอบอยู่ที่ประมาณ 8,450,660 ตร.ม. และอีก 107,900 ตร.ม.มีกำหนดเปิดให้บริการในปี2563
โดยการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีผลให้บางศูนย์การค้าในพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯเพิ่มร้านค้าแบรนด์เนมระดับโลกหรือร้านขายสินค้าระดับลักชัวรี่ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ นอกจากนี้ ยังมีโครงการพื้นที่ค้าปลีกอีก 1 รูปแบบ ที่ผู้ประกอบการรายใหญ่อย่างสยามพิวรรธน์ และกลุ่มเซ็นทรัลที่กำลังพัฒนา Outlet Mall ในทำเลที่ไม่ไกลจากสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ อย่างไรก็ตาม สมาคมผู้ค้าปลีกไทยคาดการณ์ว่าตลาดค้าปลีกในปี62 ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว คาดขยายตัวประมาณ 2.8% ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ
สำหรับพื้นที่ใจกลางเมือง มีแนวโน้มที่จะมีสัดส่วนของพื้นที่ค้าปลีกเพิ่มมากขึ้น เพราะมีโครงการมิกซ์-ยูสขนาดใหญ่ที่กำลังก่อสร้าง และมีกำหนดแล้วเสร็จในอีกหลายโครงการในไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งมีทั้งอาคารสำนักงานและศูนย์การค้าอยู่ในพื้นที่โครงการเดียวกัน เอนเตอร์เทนเม้นท์ คอมเพล็กซ์ เป็นรูปแบบโครงการพื้นที่ค้าปลีกที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาหลายปีและมีแนวโน้มที่จะลดน้อยลงในอนาคต เพราะโรงภาพยนตร์ส่วนใหญ่จะอยู่ในศูนย์การค้า และพฤติกรรมของคนในยุคปัจจุบันก็เปลี่ยนแปลงจากในอดีตการเข้าถึงภาพยนตร์มีหลายทางเลือกมากขึ้นในปัจจุบัน
ศูนย์การค้ายังคงมีสัดส่วนมากที่สุดในพื้นที่ค้าปลีกที่มีกำหนดแล้วเสร็จในอนาคตในพื้นที่กรุงเทพฯและพื้นที่โดยรอบ พื้นที่ค้าปลีกทั้งหมดที่กำลังก่อสร้าง 567,500 ตร.ม. คอมมูนิตี้มอลล์ในหลายปีที่ผ่านมาเริ่มขยายตัวลดลง เพราะไม่ใช่ทางเลือกที่น่าสนใจในบางทำเล.