จ่อรื้อ“ปีรอบบัญชี รสก.” – ยัด PPP ป้อน อปท.
สคร.เห็มปม “รอบบัญชี” รัฐวิสาหกิจที่ต่างกัน อาจเป็นอุปสรรคต่อการเดินหน้าบิ๊กโปรเจกต์ จ่อโยนก้อนหินถามทาง เปิดช่อง “ฝ่ายการเมือง” รื้อและปรับแก้ใหม่ทั้งระบบ เลือกเอาจะใช้ “ปีงบประมาณหรือปีปฏิทิน” แต่ขอเพียงหนึ่งเดียว พร้อมพ่วงยัดโครงการ PPP ให้ อปท.ทั่วประเทศ โดยไม่ง้องบรัฐ
นายประภาศ คงเอียด ผอ.สํานักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวถึงปัญหาการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะความแตกต่างของรอบบัญชีในการดำเนินงาน ว่า นอกจากมีรัฐวิสาหกิจที่ใช้รอบบัญชีปีงบประมาณ ซึ่งตรงกับการดำเนินงานและการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล และรอบบัญชีปีปฏิทิน ที่ตรงกับการดำเนินงานของหน่วยงานภาคเอกชนแล้ว ยังมีรัฐวิสาหกิจบางแห่งที่ใช้รอบบัญชีพิเศษอื่นๆ เช่น รอบบัญชีทางการเกษตร ซึ่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ใช้อยู่ในปัจจุบัน ทำให้การเชื่อมประสานทำงานระหว่างหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้วยกันเอง และรัฐวิสาหกิจกับ สคร.และรัฐบาล โดยเฉพาะการนับรอบบัญชีและการปิดงบประมาณในโครงการต่างๆ เกิดความลักลั่น จนไม่เชื่อมประสานเป็นเนื้อเดียวกัน
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนโยบาย ฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายที่มีหน้าที่ในการดำเนินงานและติดตามการทำงานของรัฐวิสาหกิจ ต่างเห็นตรงกันว่า น่าจะร่วมกันหาทางออกในเรื่องดังกล่าว ด้วยการปรับรื้อและแก้ไขรอบบัญชีในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจเสียใหม่ จะใช้รอบบัญชีปีงบประมาณหรือรอบบัญชีปีปฏิทิน อย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ แต่ขอให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
“ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า การใช้รอบบัญชีที่แตกต่างกันของรัฐวิสาหกิจ อาจเป็นปัญหาและอุปสรรคในอนาคตได้ โดยเฉพาะหากรัฐบาลเปิดให้มีการจัดทำโครงการ Thailand Future Fund (กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย : TFFIF) ด้วยการเปิดให้นักลงทุนต่างประเทศได้เข้ามาลงทุนร่วมกับรัฐวิสาหกิจที่มีแผนจะดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่” ผอ.สคร.ย้ำ และว่า ตนจะนำเรียนเรื่องดังกล่าวผ่านไปยังปลัดกระทรวงการคลัง และ รมว.คลัง เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ในการเสนอให้มีแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และทำให้รัฐวิสาหกิจได้มีรอบบัญชีในการดำเนินที่เหมือนกันทั้งประเทศโดยเร็วที่สุด
พร้อมกันนี้ ตนจะเสนอให้โครงการต่างๆ ขององค์การบริหารปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ ได้ดำเนินการในลักษณะการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership : PPP) ด้วยการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการที่จะเป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่นนั้นๆ โดยไม่จำเป็นต้องรอเงินงบประมาณ หรือต้องกู้ยืมเงินมาเพื่อดำเนินโครงการนั้นๆ โดยยึดหลักเกณฑ์และเงื่อนตามที่ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 กำหนดเอาไว้อย่างเข้มข้น ทั้งนี้ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาได้
“สคร.เชื่อว่าบางโครงการขององค์การบริหารปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นโครงการที่ภาคเอกชนให้ความสนใจ เพราะเป็นโครงการที่มีทั้งโอกาสในทางธุรกิจและการดูแลสังคมไปพร้อมๆ กัน แม้ว่าอาจจะมีบ้างที่ผู้บริหารท้องถิ่นบางคน อาจอาศัยช่องว่างข้อกฎหมายหรืออะไรก็ตาม เพื่อให้ได้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการทำ PPP แต่เชื่อว่าสุดท้ายทุกอย่างจะเดินเข้าสู่ระบบ และนำไปสู่การสร้างโอกาสและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของทั้งท้องถิ่นเอง และภาพรวมของประเทศ ทั้งหากฝ่ายนโยบายและฝ่ายบริหารเห็นชอบทั้ง 2 เรื่อง สคร.ก็พร้อมสานต่อภารกิจนี้ทันทีเช่นกัน” ผอ.สคร.ระบุ.