“จีน” แชมป์ลงทุนไทยสูงสูด แซงญี่ปุ่น
บีโอไอ เผย ปี 62 จีนย้ายฐานเข้ามาลงทุนไทย แซงหน้าญี่ปุ่น มั่นใจปี 63 ลงทุนไทยแนวโน้มดี เพราะปรับสิทธิประโยชน์ ลงทุนใน ECC เว้นภาษีเงินได้ 50% เตรียมเสนอ มาตรการ SMEs ที่ปรับปรุงใหม่เข้าบอร์ดพิจารณา ก.พ.นี้
น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า การลงทุนในปี2563 มีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากบีโอไอได้ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนหลายด้าน เพื่อเร่งรัดการลงทุนโดย เฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ผ่านมาตรการ Thailand Plus ที่เพิ่มสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปี
สำหรับโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนภายในปี 2563 และมีการลงทุนจริงไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ภายในปี 2564 รวมทั้งได้ขยายเวลามาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)ที่ใช้อยู่เดิมจนถึงเดือนก.พ.63 เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก ก่อนที่บีโอไอจะนำเสนอมาตรการ SMEs ที่ปรับปรุงใหม่ในการประชุมบอร์ดครั้งต่อไป
นอกจากนี้ บีโอไอยังได้ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีโดยให้โครงการลงทุนในทุกพื้นที่ในอีอีซีสามารถได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม (ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% 3 ปี หรือยกเว้น 2 ปี) ไม่ว่าจะตั้งอยู่ในนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมหรือไม่ หากโครงการรับนักศึกษาฝึกงานตามจำนวนขั้นต่ำที่กำหนด ทั้งนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
ส่วนโครงการที่ตั้งในพื้นที่พิเศษ (เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) และศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร ธรรมศาสตร์ พัทยา หรือ EECmd) รวมทั้งนิคมนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมก็จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมอันเนื่องจากที่ตั้งอีกด้วย
ทั้งนี้มาตรการนี้ใช้สำหรับคำขอรับการส่งเสริมที่ยื่นตั้งแต่ 2 ม.ค.63 จนถึงสิ้นปี 2564 แต่หากตั้งโครงการในเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษได้แก่ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) และศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร ธรรมศาสตร์ พัทยา หรือ EECmd ผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนได้ไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด
สำหรับยอดคำขอส่งเสริมการลงทุนในปี 2562 พบว่า จีนมาเป็นอันดับ 1 แซงญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก โดยมีคำขอลงทุน 260,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูง 160,000 ล้านบาท และโครงการทั่วไป 100,000 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2561 ที่มีคำขอลงทุนประมาณ 50,000 ล้านบาท สาเหตุที่จีนย้ายฐานเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้น เนื่องมาจากเหตุการณ์สงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน และการก้าวออกมาลงทุนนอกประเทศมากขึ้น
ส่วนญี่ปุ่น มีคำขอลงทุนปี 2562 อยู่ที่ 73,000 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2561 ที่มีคำขอลงทุน 67,000 ล้านบาท ซึ่ง การลงทุนจากญี่ปุ่นไม่ได้ลดลง แต่มีอัตราการเพิ่มการลงทุนน้อยกว่าจีน