กรมศุลฯจับหนักลักลอบนำเข้า “เกษตร-ยาเสพติด-ของหรู”
กรมศุลฯเข้ม! บูรณาการ “ทหาร-ตร.-ฝ่ายปกครอง” ตรวจจับสินค้าหนีภาษี จับกระทั่ง “สินค้าเกษตร-ยาเสพติด-สินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้า” แค่ช่วง ธ.ค.62 – ม.ค.63 มูลค่าทะลุกว่า 100 ล้านบาท เผยตัวหลักๆ คือ มะพร้าวจากอินโดฯ ชุด-เครื่องกีฬา, นาฬิกาและกระเป๋าแบรนด์เนม, บุหรี่ และยาเสพติด ทั้งโคเคนและกัญชา
นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร และ “โฆษกกรมศุลกากร” กล่าวถึงผลการจับกุมในเดือน ธ.ค.2562 ต่อเนื่องถึง ม.ค.2563 ว่า ผลจากนโยบายของอธิบดีกรมศุลกากรที่จะเร่งรัดปราบปรามการลักลอบและหลีกเลี่ยงนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร โดยมิผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง เพื่อความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดพร้อมหน่วยปฏิบัติการวางแผนตรวจค้นจับกุมอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้สืบสวนหาข่าวและออกลาดตระเวนด้วยรถยนต์ ตรวจค้นรถบรรทุก โกดัง บ้านเรือน แหล่งจำหน่าย สถานที่เก็บรักษาที่เชื่อได้ว่ามีของผิดกฎหมายเก็บซุกซ่อนอยู่ อีกทั้งยังมีแผนการป้องกันและปราบปรามสินค้าดังกล่าวในช่วงเวลาซึ่งมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการลักลอบ นอกจากนี้ มีการบูรณการกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่นทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ ทหาร กอ.รมน. ปปส. บช.ปส. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สถานทูตต่างๆ Interpol DEA เป็นต้น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการข่าวระหว่างกัน
กระทั่ง สามารถจับกุมสินค้าที่ลักลอบและหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้า รวมถึงการส่งออกไปต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าที่กระทำผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สินค้าเกษตร น้ำมัน ยาเสพติด IPRs และสินค้าละเมิดอนุสัญญา CITES
โดยเดือน ธ.ค.2562 กรมศุลกากรตรวจพบการกระทำผิดฯ 1,633 คดี คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 102 ล้านบาท แยกเป็นคดีลักลอบร้อยละ 30.2 และหลีกเลี่ยงอีกร้อยละ 69.8 โดยมีสินค้าที่มีมูลค่าการลักลอบนำเข้าที่สำคัญได้แก่ นาฬิกาข้อมือ บุหรี่ กระเป๋าชนิดต่างๆ ส่วนสินค้าที่มีมูลค่าการลักลอบส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เมทแอมเฟตามีน
ในส่วนของยาเสพติดนั้น โฆษกกรมศุลกากร ระบุว่า เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2562 กรมศุลกากร ได้สืบสวนติดตามข้อมูลของผู้โดยสารต้องสงสัยชาวกิเนียน ที่เดินทางมายังกรุงเทพฯ โดยได้ทำการตรวจสอบที่ผู้ต้องสงสัยอาจลักลอบยาเสพติดด้วยวิธีการกลืน และผลการตรวจสอบด้วยเครื่องเอกซเรย์พบโคคาอีน (ยาเสพติดให้โทษประเภท 2) รวม 42 ก้อน น้ำหนัก 575 กรัม มูลค่า 1.275 ล้านบาท จึงส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2562 ยังได้ตรวจพบพัสดุต้องสงสัย ณ ส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์ สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ อีก 1 หีบห่อ ต้นทางประเทศสโลเวเนีย สำแดงชนิดของเป็น LED แต่ผลการตรวจพบเป็นเม็ดยาสีฟ้า ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (Ecstasy) 1,010 เม็ด และกัญชาแห้ง 285 กรัม ซุกซ่อนอยู่ในป้ายไฟ LED จึงร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ประกอบด้วย สำนักงาน ป.ป.ส. กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด และศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย ฝ่ายปกครอง ฯลฯ ดำเนินการขยายผลไปยังผู้รับปลายทาง พบว่า ผู้ต้องหาเป็นบุคคลเดียวกันกับผู้ต้องสงสัยที่จำหน่ายยาเสพติดตามสถานบันเทิง จึงได้นำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป
นายชัยยุทธกล่าวอีกว่า สำหรับการลักลอบสินค้าเกษตรนั้น จากการจับกุมรถบรรทุกพ่วง บรรทุกข้าวสารเหนียว 660 กระสอบๆ ละ 48 กก. เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2562 พบว่าเป็นสินค้าลักลอบหนีศุลกากร บริเวณริม ถ.มิตรภาพ (ขาเข้า กทม.) ต.ธารปราสาท อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา มูลค่ารวมกว่า 1.3 ล้านบาท และเจ้าของของได้มาทำความตกลงระงับคดีโดยยกของกลางให้เป็นของแผ่นดินเสร็จสิ้นแล้ว และเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2562 ได้ตรวจค้นโกดังในพื้นที่ ต.บางเลน อ.บางเลน จ.นครปฐม พบสินค้าเกษตรประเภทหอมแขกพม่า 740 กระสอบ น้ำหนัก 6 ตัน มูลค่ากว่า 3 แสนบาท มีเมืองกำเนิดต่างประเทศ แต่ไม่มีหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากรมาแสดงขณะตรวจค้น โดยเจ้าของโกดังได้มารับทราบข้อกล่าวหาพร้อมระงับคดีกับกรมศุลกากร เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 8 ม.ค.2563 กรมศุลกากร ได้ตรวจค้นและจับกุมรถ 6 ล้อบรรทุกมะพร้าวปลอกเปลือกหนัก 11 ตัน ที่คาดว่าน่าจะลักลอบนำเข้ามาจากประเทศอินโดนีเซีย ผ่านมาทางประเทศเมียนมาร์ โดยนำเข้ามาทางด้านพื้นที่ใกล้เคียงด่านตรวจของศุลกากรปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ อีกทั้งในวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา ยังสามารถตรวจยึดมะพร้าวได้เพิ่มอีก 9 ตัน รวม 20 ตัน มูลค่า 280,000 บาท
สำหรับสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้านั้น โฆษกกรมศุลากร กล่าวว่า กรมศุลกากรได้บูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ โดยทำการตรวจค้นโกดังสินค้า ต.ป่าไร่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว กระทั่ง สามารถจับกลุ่มสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้า โดยเฉพาะเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬารวมมูลค่ากว่า 30 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีนาฬิกาหรู 31.8 ล้านบาท และกระเป๋าแบรนด์เนมอีก 3.6 ล้านบาท
ในส่วนของการลักลอบนำเข้าบุหรี่จากต่างประเทศ โดยเฉพาะชนิดที่ไม่มีจำหน่ายหรือมีจำหน่ายน้อยมากในประเทศไทยนั้น พบว่า ช่วงเวลาปลายปี 2562 ต่อเนื่องถึงต้นปีนี้ สามารถจับกุมได้ทั้งสิ้น 11 ล้านมวน คิดเป็นเงินราว 11 ล้านบาท.