สมคิด เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน EEC 650,000 ลบ.
สมคิด เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ EEC 5 โครงการ มูลค่า 650,000 ล้านบาท กำชับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ต้องได้ข้อสรุปภายใน 3 เดือน ตั้งเป้าลดผู้มีรายได้น้อยให้หมดไป ภายใน 3 ปี
วันนี้ (ุ6 ม.ค.63) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายและข้อสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC โดยขอให้ขับเคลื่อนการลงทุนในพื้นที่ EEC ให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะ โครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในพื้นที่ EEC ทั้ง 5 โครงการ มูลค่ารวม 6.5 แสนล้านบาท จะต้องเริ่มลงมือก่อสร้างภายในปีนี้ และขีดเส้นภายใน 3 เดือนจะต้องได้ข้อสรุปโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก เพราะเป็นโครงการที่มีความสำคัญและล่าช้ากว่าแผนที่วางไว้เดิม
พร้อมทั้งมอบหมายให้ EEC เตรียมความพร้อมให้ครบทุกอย่างไม่ต้องรอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำตัดสินกรณีที่มีเอกชนยื่นร้องเรียนเรื่องที่ถูกตัดสิทธิเข้าร่วมประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันทีหลังจากศาลฯ มีคำตัดสิน เพราะเตรียมความพร้อมไว้ทั้งหมดแล้ว และเร่งดำเนินการโครงการสมาร์ทซิตี้ (EECi) ให้เป็นรูปธรรมภายในปีนี้
ด้านนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ.กล่าวว่า นอกจากนั้น นายสมคิด ยังเน้น สร้างรายได้ให้ถึงชุมชน โดยการ ขยายท่องเที่ยวพื้นที่รอง และสร้างโครงการท่องเที่ยวระดับชุมชน เชื่อมโยงทรัพยากรในพื้นที่ สร้างรายได้ชุมชน ปีละ 1.2 แสนล้านบาทภายใน 3 ปี เช่น ท่องเที่ยวเชิงเกษตร บ้านตะพง จ.ระยอง ท่องเที่ยววัฒนธรรม ทางน้ำ จ.ฉะเชิงเทรา ท่องเที่ยวสุขภาพ นันทนาการ จ.ชลบุรี
และการเชื่อม SME สู่ตลาดโลก ให้ SME ไทยเป็นผู้จัดหาสินค้าและบริการหรือ Suppliers ให้นักลงทุนเทคโนโลยีเป้าหมาย รวมทั้งจัดพื้นที่เฉพาะ ให้สิทธิประโยชน์ที่เหมาะสม พร้อมส่งเสริมไปตลาดโลกด้วย E-Commerce รวมทั้งผลักดันโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor : EFC) ร่วมกับ อบจ.ระยอง ยกระดับเป็นโครงการหลัก ให้เกิดการลงทุนปี 2563 นี้ โดยเตรียมพื้นที่ 23 ไร่ รองรับที่ ต.มาบข่า จ.ระยอง
ส่วนการลดผู้มีรายได้น้อยให้หมดไป ภายใน 3 ปี นั้น ประชากรทั้งหมดในอีอีซีประมาณ 3.4 ล้านคน จะได้รับการยกระดับคุณภาพชีวิตและมาตรฐานสิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างงานให้คนรุ่นใหม่ วัยทำงาน โดยผู้มีรายได้น้อยประมาณ 3.5 แสนคนหรือประมาณ 14% จะเร่งการจัดฝึกอบรมพัฒนาอาชีพเฉพาะกลุ่ม จัดหางานในพื้นที่ร่วมกับจังหวัด อปท. เอกชน และชุมชน พร้อมจัดหางานให้กับผู้สูงอายุ โดยตั้งเป้าหมายให้ผู้มีรายได้น้อยกลุ่มนี้ ลดลงภายใน 3 ปี
สำหรับการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน สาธารณสุขถ้วนหน้า ทุกคน ทุกชุมชน ประชาชนทุกกลุ่มต้องเข้าถึงระบบประกันสุขภาพได้ โรงพยาบาลไม่แออัด ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้สะดวก รวดเร็ว การวินิจฉัยโรคถูกต้อง แม่นยำ
ด้านการศึกษา พัฒนาทักษะบุคลากร ปรับเข้าสู่ Demand Driven เอกชนร่วมจ่าย : ในรูปแบบของ EEC Model คือ แบบเรียนฟรี มีงานทำ และ แบบจ่ายน้อยมีโอกาสทำงาน
พร้อมกับพัฒนาบุคลากรเร่งด่วน 20,000 คน จำนวน 120 หลักสูตร ให้ตรงความต้องการงานภายใน 1 ปี สร้างบัณฑิตอาสาเพื่อพัฒนาชุมชนเป้าหมาย 120 คน เปิดรับรุ่นแรก 30 คนเริ่มได้ทันที และผลิตอาชีวะมาตรฐานอินเตอร์ ฝึกอบรมครู พัฒนาสื่อการสอน
กำกับผังเมือง และสิ่งแวดล้อมด้วยพลังสตรี ใช้เครือข่ายสตรีกรมพัฒนาชุมชน เป็นกระบอกเสียง ขยายความเข้าใจ รวบรวมปัญหา และข้อเสนอแนะ และพัฒนา 3 เกาะ : เกาะสีชัง เกาะล้าน และเกาะเสม็ด เป็นพื้นที่ตัวอย่าง สร้างประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ลดความขัดแย้งและร่วมกันพัฒนาความเป็นอยู่ อย่างยั่งยืน
ส่วนการ ก้าวสู่มาตรฐาน BCG จะดำเนินการตามแผนสิ่งแวดล้อม ก้าวสู่ Circular Economy และพัฒนาต้นแบบกำจัดขยะครบวงจร ขยะเกิดใหม่ และสะสมในพื้นที่ต้องหมดไปใน 12 ปี