“บก.-กรุงไทย”ร่วมเพิ่มช่องทางชำระเงิน
บัญชีกลางผนึกแบงก์กรุงไทย เซ็นเอ็มโอยูเพิ่มช่องทางรับชำระเงินจากประชาชนและภาคธุรกิจ ช่วยอำนวยความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น แถมลดขั้นตอนนำเงินส่งคลังให้กับหน่วยงานของรัฐ เผยสอดรับแผนรับชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ
น.ส.วิลาวรรณ พยาน้อย รองอธิบดีกรมบัญชีกลางในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง (บก.) กล่าวว่า กรมบัญชีกลางได้พัฒนาระบบการรับชำระเงินกลางของบริการภาครัฐ (e-Payment Portal of Government) ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการรับชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) ของรัฐบาล ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2562 ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับธนาคารกรุงไทย เพื่อเพิ่มช่องทางการรับชำระเงินรายได้และเงินอื่นๆ จากประชาชนและภาคธุรกิจ ให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว และยังช่วยลดขั้นตอนการนำเงินส่งคลังให้กับหน่วยงานภาครัฐอีกด้วย
สำหรับระบบการรับชำระเงินกลางของบริการภาครัฐ ถือเป็นระบบงานเบ็ดเสร็จสำหรับการรับและนำเงินส่งคลังของหน่วยงานของรัฐ ครอบคลุมการทำธุรกรรมระหว่างภาครัฐกับภาคธุรกิจ และภาครัฐกับภาคประชาชน เช่น การจ่ายค่าปรับ ค่าเช่า ค่าใบรับรอง ค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต โดยประชาชนและภาคธุรกิจไม่จำเป็นต้องเดินทางมาติดต่อที่ส่วนราชการด้วยตนเอง สามารถทำธุรกรรมผ่านทางเว็บไซต์ www.epayment.cgd.go.th โดยการออกใบแจ้งการชำระเงิน (Bill Payment) เพียงเลือกรายการหรือหน่วยงานที่ต้องการ และนำไปชำระเงินผ่านช่องทางต่างๆ เช่น เคาน์เตอร์ธนาคาร เคาน์เตอร์เซอร์วิส ATM Internet Banking หรือชำระเงินออนไลน์ด้วยบัตรเครดิต/เดบิต ผ่านระบบการรับชำระเงินกลางฯ เมื่อประชาชนและภาคธุรกิจชำระเงินสำเร็จแล้วจะได้รับใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ทันที
ขณะเดียวกันข้อมูลการรับและนำส่งเงินจะเชื่อมโยงเข้าระบบ GFMIS โดยอัตโนมัติ ปัจจุบันมีหน่วยงานนำร่องที่เริ่มดำเนินการรับชำระเงินและนำเงินส่งคลังผ่านระบบการรับชำระเงินกลางฯ แล้วตั้งแต่เดือน พ.ค. 2562 ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมธนารักษ์ และเตรียมขยายผลให้ส่วนราชการที่มีความพร้อมในปีงบประมาณ 2563 อีก 33 หน่วยงาน
นอกจากนี้ กรมบัญชีกลางยังได้พัฒนาระบบการรับชำระเงินกลางฯ ให้เชื่อมโยงข้อมูลกับระบบการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จทางอิเล็กทรอนิกส์ (Biz Portal) ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ซึ่งเป็นระบบกลางในการให้บริการด้านการออกหนังสือรับรอง ใบอนุญาต และเอกสารต่างๆ แบบเบ็ดเสร็จทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนหรือผู้ประกอบการ ตั้งแต่การขอยื่นคำขอและเอกสารประกอบการชำระค่าธรรมเนียม การออกใบอนุญาตผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการบูรณาการทำงานร่วมกัน
โดยทั้ง 2 ระบบจะเชื่อมโยงข้อมูลกันในขั้นตอนการรับชำระเงิน กล่าวคือ ผู้รับบริการจะยื่นคำขออนุญาตและเอกสารที่เกี่ยวข้องผ่านระบบ Biz Portal เมื่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อมูลถูกต้องแล้ว หน่วยงานภาครัฐสามารถสร้างใบแจ้งการชำระ (Bill Payment) ที่มีรหัสอ้างอิงของระบบการรับชำระเงินกลางฯ ส่งให้ผู้รับบริการทาง e-Mail เพื่อให้ผู้รับบริการนำไปชำระเงินค่าธรรมเนียมการขอใบอนุญาตดังกล่าวผ่านช่องทางที่กำหนด โดยระบบการรับชำระเงินกลางฯ จะส่งข้อมูลการรับชำระเงินกลับไปยังระบบ Biz Portal เพื่อให้หน่วยงานออกเอกสารต่าง ๆ ให้แก่ผู้รับบริการ ในขณะเดียวกัน ระบบจะนำเงินรายได้หรือเงินอื่นดังกล่าวส่งคลังหรือฝากคลัง พร้อมทั้งบันทึกบัญชีในระบบ GFMIS ให้โดยอัตโนมัติ ซึ่งมีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นหน่วยงานนำร่องในการเชื่อมโยงข้อมูลการรับชำระเงินรายได้และเงินอื่นของระบบการรับชำระเงินกลางฯ กับระบบ Biz Portal และจะขยายผลการใช้ระบบงานให้กับหน่วยงานภายใต้ระบบ Biz Portal ต่อไป
“การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ กรมบัญชีกลางมุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์กับภาคธุรกิจ ภาคประชาชน และหน่วยงานของรัฐ ที่ใช้บริการระบบการรับชำระเงินกลางของบริการภาครัฐ (e-Payment Portal of Government) ให้มีความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และช่วยลดขั้นตอนการปฏิบัติงานให้กับหน่วยงานของรัฐด้วย” โฆษกกรมบัญชีกลาง ย้ำ
“การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ กรมบัญชีกลางมุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์กับภาคธุรกิจ ภาคประชาชน และหน่วยงานของรัฐ ที่ใช้บริการระบบการรับชำระเงินกลางของบริการภาครัฐ (e-Payment Portal of Government) ให้มีความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และช่วยลดขั้นตอนการปฏิบัติงานให้กับหน่วยงานของรัฐด้วย” โฆษกกรมบัญชีกลาง ย้ำ
ด้านนายผยง ศรีวณิช กก.ผจก.ใหญ่ กล่าวว่า ธนาคารกรุงไทยเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับระบบการรับชำระเงินกลางของบริการภาครัฐ โดยการให้บริการรับชำระเงินผ่านช่องทางต่างๆ ของธนาคาร ซึ่งผู้ประกอบการและประชาชนสามารถชำระเงินผ่าน Payment Gateway ได้ทันที โดยการตัดเงินจากบัตรเดบิต/เครดิต หรือตัดเงินจากบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทยโดยตรง รวมถึงการเลือกชำระเงินด้วยการนำใบแจ้งการชำระเงิน เช่น ค่าปรับ ค่าเช่า ค่าใบรับรอง ค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต ที่ได้จากเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลางหรือส่วนราชการ ไปชำระผ่านช่องทางต่างๆ ของธนาคาร ทั้ง Krungthai Next, Krungthai Corporate Online ตู้ ATM และช่องทางชำระบิลข้ามธนาคารที่ร่วมโครงการ
นอกจากนี้ ยังมีช่องทางสาขาธนาคารกรุงไทยกว่า 1,100 แห่งทั่วประเทศ ตลอดจน เครื่อง EDC ณ จุดบริการของกรมบัญชีกลาง ซึ่งช่วยให้ส่วนราชการบริหารจัดการด้านการเงินการคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องเก็บเงินสดจำนวนมากไว้ที่หน่วยงาน เพิ่มความโปร่งใสในการรับชำระเงินสามารถจัดทำบัญชีได้รวดเร็ว และมีระบบที่ตรวจสอบได้ รวมทั้งลดขั้นตอนการปฏิบัติงานให้เจ้าหน้าที่ ที่สำคัญยังช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการและประชาชนในการเลือกชำระเงินได้หลากหลายช่องทาง ไม่เสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปยังหน่วยงานราชการ
อีกทั้ง ยังมีความปลอดภัย เนื่องจากสามารถตรวจสอบหลักฐานการชำระเงินและเรียกดูรายการด้วยตนเอง ผ่านเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลาง ซึ่งใบเสร็จที่ออกจากระบบสามารถใช้เป็นหลักฐานยืนยันการชำระเงินได้เทียบเท่าใบเสร็จจริง ที่ผ่านมาธนาคารกรุงไทยได้นำนวัตกรรมทางการเงินมาสนับสนุนนโยบายสำคัญของภาครัฐ รวมทั้งเป็นสถาบันการเงินเพียงแห่งเดียวที่เป็นตัวกลางในการรับเงินและนำเงินส่งคลัง GFMIS โดยอัตโนมัติ.