กบข.ตั้งเป้าเพิ่มสมาชิก 1 แสนคน
กบข.ตั้งเป้าเพิ่มสมาชิกปี 63 โต 10% หรือ 1 แสนคน เผยสูงกว่ายอดสะสม 12 ปี เตรียมคลอด “ดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณของสมาชิกณ” ใช้ต้นปีหน้า ก่อนจับมือจุฬาลงกรณ์ ผุดดัชนีฯระดับชาติ แก้ปมสังคมสูงวัย ย้ำเน้นลงทุนหลักธรรมาภิบาล ส่วนลงทุนต่างชาติยึดกระจายความเสี่ยง ระบุค่าเฉลี่ยผลตอบแทนลงทุนปี62 สูงถึง 5%
นายวิทัย รัตนากร เลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวถึงแผนงานในปี 2563 ว่า ได้กำหนดทิศทางบริหารงานมุ่งสู่การเป็นกองทุนบำนาญยั่งยืน ภายใต้ 2 เป้าหมายหลัก คือ 1.สมาชิกมีเงินออมเมื่อเกษียณที่เพียงพอ และ 2.สังคมมีความยั่งยืน โดยกำหนดเกณฑ์เทียบวัดมาตรการว่า สมาชิกควรมีเงิน ณ วันเกณียณ 80% ของเงินเดือนสุดท้าย ทั้งนี้ สมาชิกต้องออมเพิ่มและเลือกแผนลงทุนที่มีให้เลือก 6-7 แผนอย่างเหมาะ ทั้งนี้ กบข.ตั้งเป้าหมายว่าจะต้องเพิ่มสมาชิกไม่ต่ำกว่า 10% หรือ 100,00 คน ซึ่งตัวเลขนี้ถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทายมาก เพราะเป็นตัวเลขยอดสมาชิกออมเพิ่มและเลือกแผนลงทุนที่สูงกว่ายอดสะสมตลอด 12 ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ยังได้จัดทำ “ดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณของสมาชิก กบข.” ให้กับสมาชิก เพื่อเป็นเครื่องมือวัดผลความสำเร็จในการส่งเสริมการออม รวมถึงความร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการพัฒนา “ดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณระดับประเทศ” เพื่อใช้อ้างอิงความพร้อมในการเกษียณของคนไทยทั่งประเทศรองรับสังคมสูงวัย ที่จะปัญหาของไทยในอนาคต
เลขาธิการ กบข.กล่าวอีกว่า กบข.ยังดำเนินแผนงานต่อเนื่องเพื่อการลงทุนอย่างรับผิดชอบ โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดยปีหน้ามีเป้าหมายส่งเสริมให้นักลงทุนสถาบัน หันมาให้ความสำคัญกับการนำปัจจัยธรรมาภิบาล เป็นส่วนหนึ่งในการคัดเลือกผู้จัดการกองทุนภายนอก ซึ่งได้เริ่มนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาใช้ตั้งแต่ปีนี้แล้ว
สำหรับการจัดการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของสังคมนั้น กบข.จะเลือกลงทุนเฉพาะหลักทรัพย์ที่คำนึ่งถึงปัจจัยธรรมาภิบาล โดยตั้งเป้าปีหน้าจะการลงทุนในประเทศทั้งหมด ทั้งในส่วนของหุ้นและตราสารหนี้ ต้องเป็นการลงทุนจากปัจจัยธรรมาภิบาล 100%
ส่วนการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศเป็น 40% นั้น นายวิทัยย้ำว่า การลงทุนในไทยมีข้อจำกัดเฉพาะหุ้นและตราสารหนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ผลตอบแทนจะผกผันกัน กล่าวคือ หากปีใดที่หุ้นได้ผลตอบแทนที่ดี ผลตอบแทนจากตราสารหนี้ก็จะไม่ดี แต่ก็มีบางปีที่เศรษฐกิจมีความผันผวนทำให้การลงทุนทั้ง 2 อย่างเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศ อาจช่วยลดปัญหากรณีที่ผลตอบแทนของทั้งหุ้นและตราสารหนี้ไม่ดี เนื่องจากมีผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลายกว่า สามารถจะบริหารการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่ได้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงได้อย่างดี โดยผลตอบแทนเฉลี่ยของ กบข.ในปีนี้น่าจะมีค่าเฉลี่ยประมาณ 5%
“แนวคิดในการเพิ่มสัดส่วนการออมของสมาชิกจากปัจจุบันต้องมีขั้นต่ำ 3% จนถึง 15% โดยปรับเพดานเพิ่มขึ้นเป็น 30% นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำร่างกฎหมาย (พระราชบัญญัติ) โดยเสนอให้กระทรวงการคลังได้พิจารณา ทั้งนี้ หากร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากระดับกระทรวง (คลัง) ก็จะถูกนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในโอกาสต่อไป” เลขาธิการ กบข.ย้ำ.