นายกฯขยายวงถก ครม.เศรษฐกิจ
นายกฯสั่งขยายวงถก ครม.เศรษฐกิจ ย้ำ! การทำงานของรัฐบาลครอบคลุมหลายมิติ เปิดช่องปม “เศรษฐกิจฐานราก – เศรษฐกิจอิงเกษตรกร – คนตกงาน – อื่นๆ” มาหารือในที่ประชุมฯด้วย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงผลการหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวกับการประชุมของคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ว่า ควรให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานราก และเศรษฐกิจกลุ่มเกษตรกรต่างๆ รวมถึงแรงงานตกงาน ควรจะมีแนวทางการแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง เพราะการแก้ไขปัญหามีหลายมิติที่เกี่ยวข้องและต้องหารือร่วมกัน ดังนั้น ตนจึงสั่งให้มีการปรับปรุงการทำงานของ ครม.เศรษฐกิจ เพื่อให้ครอบคลุมในหลายๆ มิติ เนื่องจากเศรษฐกิจต้องเดินหน้าไปด้วยกัน ทั้งเรื่องลงทุนในประเทศและต่างประเทศ การท่องเที่ยว และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยการลงทุนของรัฐบาลมีหลายอย่าง ทั้งในส่วนงบประมาณภาครัฐและงบประมาณรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 เพื่อส่งต่อไปยังไตรมาสที่ 1 ของปี 63
นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับกิจกรรมอื่นๆ โดยในส่วนของการค้าออนไลน์ได้เร่งรัดดำเนินการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ซึ่งทุกคนต้องร่วมมือกันด้วย ไม่เช่นนั้นเมื่อรัฐบาลออกอะไรไปก็ทำไม่ได้ทั้งหมด ทั้งนี้ในเรื่องของแรงงาน ที่ต้องเน้นในเรื่องการเพิ่มทักษะ โดยปัญหาการตกงานนั้น ยอมรับว่า มีการปลดคนงานบ้างราว 1,000 โรงงาน แต่ขณะเดียวกัน ก็มีโรงงานเกิดขึ้นใหม่อีกกว่า 2,800 แห่ง ดังนั้น ต้องไปพิจารณาในรายละเอียดของโรงงานที่เลิกจ้างพนักงาน ว่าเป็นเพราะอะไร ส่วนโรงงานใหม่ที่เพิ่งตั้งขึ้นมาจะรับพนักงานไปทำหรือไม่ แล้วคนที่ตกงานจะทำอย่างไร ก็ต้องพิจารณาในรอบคอบ
ด้านนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน ครม.เศรษฐกิจใหม่ โดยให้ความสนใจเศรษฐกิจฐานรากมากขึ้น ซึ่งจะนำแผนงานที่มีอยู่ในแต่ละกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจมาหารือในที่ประชุมฯ รวมถึงเปิดให้มีการนำเรื่องอื่นๆ มาหรือเพื่อบรรเทาภาระกับประชาชนและผู้ประกอบการในที่ประชุมได้
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ยังได้รับทราบถึงภาวะเศรษฐกิจไทย ไตรมาสที่ 3 ตามที่สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงข่าว เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ที่ประมาณการว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ 2.6% ขณะที่ไตรมาส 3 ขยายตัว 2.4% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตเนื่องจากไตรมาส 2 นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการท่องเที่ยว และ มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลได้ออกไปแล้ว เช่น มาตรการชิมช้อปใช้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย ทำให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปีนี้ ขยายตัวเกิน 2.8% ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยทั้งปี ขยายตัวได้ 2.6% และปีหน้าขยายตัวได้ 3.2%
โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่ดีขึ้น การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาล และการลงทุนของรัฐวิสาหกิจในช่วงก่อนสิ้นปีนี้ ที่มีงบลงทุนได้อีกประมาณ 100,000 ล้านบาท ขณะที่การส่งออกคงขยายตัวได้อยาก เนื่องจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน โดยกระทรวงการคลังประเมินแล้ว คาดว่าจะต้องมีมาตรการพิเศษเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกรอบในช่วงปลายปีนี้.