สุริยะ สั่งสำรวจน้ำทิ้งโรงงาน 12 ประเภท
สุริยะ กำชับ กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำรวจปริมาณน้ำทิ้งโรงงาน 12 ประเภท จำนวน 7,621 โรงงาน เพื่อเตรียมความพร้อมช่วยเหลือเกษตรกร หากเกิดวิกฤติภัยแล้ง ชี้น้ำทิ้งต้องเป็นน้ำที่ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานกำหนดเท่านั้น
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) สำรวจปริมาณน้ำทิ้งของโรงงาน 12 ประเภท ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 7,621 โรงงาน ที่สามารถนำน้ำทิ้งไปใช้ประโยชน์ในภาคเกษตรกรรมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในภาวะที่ปริมาณน้ำในภาคเกษตรประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรง โดยคุณลักษณะของน้ำทิ้งต้องเป็นน้ำที่ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานของกระทรวงอุตสาหกรรม และมีคุณภาพสามารถใช้ในการเกษตรได้ โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับ พี่น้องเกษตรกรให้สามารถผ่านวิกฤตภัยแล้งไปได้ในกรณีที่เกิดภัยแล้งขั้นรุนแรง
สำหรับโรงงาน 12 ประเภท ประกอบด้วย โรงงานจำพวก 3 ประกอบกิจการเกี่ยวกับสัตว์ซึ่งไม่ใช่สัตว์น้ำ, กิจการเกี่ยวกับนม, กิจการเกี่ยวกับสัตว์น้ำ, กิจการเกี่ยวกับน้ำมันจากพืชหรือสัตว์หรือไขมันจากสัตว์, กิจการเกี่ยวกับผัก พืชหรือผลไม้, กิจการเกี่ยวกับเมล็ดพืชหรือหัวพืช, กิจการเกี่ยวกับอาหารจากแป้ง, กิจการเกี่ยวกับน้ำตาล, กิจการเกี่ยวกับชา กาแฟ โกโก้ ช็อกโกแลต หรือขนมหวาน, กิจการเกี่ยวกับเครื่องปรุงหรือเครื่องประกอบอาหาร, กิจการเกี่ยวกับอาหารสัตว์ และกิจการปรับคุณภาพของเสียรวม เฉพาะการบำบัดน้ำเสียของโรงงานทั้งหมดที่กล่าวไว้
สำหรับในปี 59 ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมได้ประสานโรงงานอุตสาหกรรมจนสามารถนำน้ำทิ้งจำนวน 772,560 ลบ.ม. (ไม่เกิน 10 ลบ.ม. ต่อไร่ต่อวัน) ช่วยเหลือเกษตรกรที่แจ้งความประสงค์ขอใช้น้ำทิ้ง จำนวน 4,419 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรชาวไร่อ้อย ข้าวโพด ปาล์ม มันสำปะหลัง ถั่วเขียว เป็นต้น และที่สำคัญโรงงานอุตสาหกรรมยังมีศักยภาพในการนำน้ำทิ้งช่วยเหลือเกษตรกรได้เพิ่มอีก หากเกษตรกรแจ้งความจำนงในการขอใช้น้ำทิ้ง
อย่างไรก็ตามการนำน้ำทิ้งออกนอกโรงงานในส่วนของโรงงานจำพวก 3 นั้น โรงงานที่จะนำน้ำทิ้งไปสู่ภาคการเกษตรต้องเป็นน้ำที่ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยโรงงานต้องมีสัญญาหรือหนังสือยินยอม ระหว่างผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ กับเกษตรกรผู้นำน้ำทิ้งไปใช้ในพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งจะต้องมีแผนที่ และหนังสือแสดงสิทธิ์ การใช้ที่ดินของเกษตรกรผู้รับน้ำทิ้งไปใช้ในพื้นที่ มีเอกสารที่แสดงว่าพื้นที่เกษตรกรรมที่จะนำน้ำทิ้งไปใช้มีคันดินหรือการป้องกันโดยรอบเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำรั่วไหลออกนอกพื้นที่ และต้องมีหนังสือรับรองจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่จะนำน้ำทิ้งโรงงานไปใช้ประโยชน์ที่ได้รับความเห็นชอบจากเกษตรกร เป็นต้น พร้อมกันนี้ยังให้อุตสาหกรรมจังหวัดจะเป็นผู้พิจารณาและตรวจสอบด้วยว่าน้ำทิ้งที่จะไปสู่ภาคเกษตรนั้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเหมาะสมหรือไม่
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมทำหนังสือขอความร่วมมือ ไปยังโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศให้ช่วยกันประหยัดการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรม และลดปริมาณน้ำทิ้งจากโรงงานเพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง พร้อมทั้งยังกำชับให้ผู้ประกอบการนำนโยบาย 3 อาร์ (3R) ในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในระดับสูงสุด คือ 1.รีดิวซ์ (Reduce) การลดใช้หรือใช้น้ำน้อยเท่าที่จำเป็น 2.รียูส (Reuse) การใช้น้ำซ้ำ และ 3.การรีไซเคิล (Recycle) หรือการนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดน้ำแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกให้กับภาคอุตสาหกรรมในการช่วยกันใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าควบคู่กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมตามนโยบายของรัฐบาลด้วย.