สถาบันยานยนต์ เร่งทำมาตรฐานยานยนต์อนาคต
สถาบันยานยนต์ เสนอรัฐเร่ง จัดทำมาตรฐาน และเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านการทดสอบที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ สู่เป้าหมายฐานการผลิตอาเซียน
นายอดิทัต วะสีนนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวในฐานะ ประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ “กฎระเบียบและมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า” ว่า สถาบันยานยนต์ และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO)ได้มีความร่วมมือภายใต้อนุสัญญาภาคี (Letter of Intent: LOI) เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 กรอบระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ.2561 – 2563) โดยมีจุดประสงค์สำคัญ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศไทย ในขอบเขตของความร่วมมืออยู่ 3 ด้าน คือ 1. การแลกเปลี่ยนข้อมูลที่จำเป็นในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ของประเทศ 2. การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ให้ไทยสามารถผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สมัยใหม่ 3. การพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ รวมถึงความรู้ด้านกฎระเบียบและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า
ด้าน นายอัทสึชิ ทาเคทานิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น ประจำกรุงเทพฯ (JETRO Bangkok) กล่าวว่า การผลิตรถยนต์ในประเทศไทย 2 ล้านคัน เป็นการผลิตโดยผู้ผลิตจากประเทศญี่ปุ่นถึงร้อยละ 86% ดังนั้นในยุคของยานยนต์อนาคต ญี่ปุ่นนั้นคาดว่าจะยังคงครองตลาดด้านรถยนต์ไฟฟ้า และมีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยต่อไป ดังนั้น เพื่อส่งเสริมการลงทุนในสาขายานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย จึงจำเป็นต้องพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่เพียงแค่ได้รับการสนับสนุนการลงทุนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกฎระเบียบและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง และการฝึกอบรมวิศวกร รวมถึง “กฎระเบียบและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า”
นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน ผู้ทำการแทนผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวเสริมว่า ตลาดยานยนต์ไฟฟ้า ในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างมาก จากตลาดขนาด 9,606 11,983 และ 20,204 คัน ในปี พ.ศ. 2559 ถึง พ.ศ. 2561 ตามลำดับ และในปี พ.ศ. 2562 นี้ ปริมาณจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง กันยายน มีจำนวนถึง 20,678 คัน และอาจมีจำนวนรวมในปี พ.ศ. 2562 กว่า 30,000 คัน และคาดว่าในปี พ.ศ. 2563 ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว
ทั้งนี้ ทางสถาบันได้เล็งเห็นถึงการแปลี่ยงแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ จึงจัดทำ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายว่า “ในปี พ.ศ. 2573 ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ที่สำคัญของภูมิภาค โดยจะผลิตรถยนต์ 2.5 ล้านคัน และ 1.5 ล้านคัน เป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ โดยร้อยละ 15 เป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) และร้อยละ 60 เป็นรถยนต์ที่มีความสามารถขับเคลื่อนอัตโนมัติในระดับ 3″
ส่วนรถที่ใช้ในกิจการที่เป็นสาธารณะ เช่น รถโดยสาร รถสามล้อ รถจักรยานยนต์ ทั้งหมดจะเป็นรถ BEV ทั้งนี้เพื่อเป้าหมายในระยะยาวที่ ประเทศไทยจะเป็นฐานการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ สถาบันฯจึงได้ทำวิจัยและพัฒนาควบคู่กับการเป็นฐานการผลิตส่วนประกอบที่มีมูลค่าเพิ่มสูง อาทิ การผลิตแบตเตอรี่ มอเตอร์ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และซอฟต์แวร์ ยางล้อ และกลุ่มตัวถังที่ใช้วัสดุน้ำหนักเบา และเสนอนโยบายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ คือ การจัดทำมาตรฐานและเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านการทดสอบที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (xEV) จำนวนทั้งสิ้น 13 ราย ประกอบด้วย กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Electric Vehicle: HEV) จำนวน 4 ราย กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (Plug-in Hybrid Electric Vehicle: PHEV) จำนวน 5 ราย และรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) จำนวน 4 ราย.