“อุตตม” นำทีมฯ ชูเขตตะวันตกสู่เศรษฐกิจพิเศษ
“อุตตม” ยกทีมผู้บริหารคลังลงพื้นที่เมืองกาญจน์ ร่วมประชุมขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ผ่านนโยบายประชารัฐสร้างไทย โฟกัส “กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง” เผยพร้อมรับฟังทุกข้อเสนอแนะจากคนพื้นที่ หวังบูรณาการกับ “จุดเด่น” ที่ภาครัฐมี ผลักดันให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งใหม่ เชื่อมภาคตะวันตกกับ EEC ในภาคตะวันออก
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง พร้อมด้วย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผช.รมต.คลัง นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการ รมว.คลัง ผู้บริหารกระทรวงการคลัง และหน่วยงานในสังกัดฯ เดินทางลงพื้นที่ จ.กาญจนบุรี เมื่อช่วงสายวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อร่วมประชุมขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน ตามนโยบาย “ประชารัฐสร้างไทย” ก่อนเข้าร่วมประชุม ครม.สัญจร ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง ประกอบด้วย จ.กาญจนบุรี ราชบุรี และสุพรรณบุรี ในวันรุ่งขึ้น (12) ว่า ต้องการมารับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ เพื่อคัดกรองสิ่งที่หน่วยงานและคนในพื้นที่ ทั้งในส่วนของภาคราชการ ภาคเอกชน และตัวแทนชาวบ้านต้องการอย่างแท้จริง มาบูรณาการร่วมกับสิ่งที่ภาครัฐมี เพื่อร่วมผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายและการดำเนินงานของหน่วยที่เกี่ยวข้องต่างๆ พร้อมมอบหมายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง จัดทำแผนเพื่อขับเคลื่อนดูแลเศรษฐกิจฐานรากให้มีประสิทธิภาพต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง พร้อมรับข้อเสนอแนะต่างๆ ที่ตัวแทนคนในพื้นที่เสนอมา อาทิ การจัดสรรที่ราชพัสดุมอบให้กับชาวบ้าน เพื่อให้มีกรรมสิทธิ์ทำกินในที่ดินครอบครอง การส่งเสริมให้เอกชนรายย่อยเข้าถึงแหล่งทุน ข้อเสนอการก่อสร้างสนามบินเชื่อมต่อการท่องเที่ยวกับจ.ภูเก็ต เชียงใหม่ การอนุรักษ์การท่องเที่ยวแพ เมืองกาญจนบุรี เพราะเป็นวิถีท่องเที่ยวชุมชน ผ่านการบริหารจัดการให้เป็นระบบ เป็นต้น
นายอุตตม กล่าวอีกว่า กระทรวงการคลังต้องการปรับบทบาทสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทุกแห่ง เพื่อนำไปสู่การเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง โดยให้ ธ.ก.ส. ดูแลเกษตรกรเน้นแปรรูปไปสู่อุตสาหกรรม ธนาคารออมสินสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) ดูแลเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ธนาคารกรุงไทยดูแลอุตสาหกรรม เช่น การแปรรูปอ้อย การสร้างเครือข่ายรายเล็ก กลาง ไมโครเอสเอ็มอี การค้าชายแดน กรมศุลกากรต้องส่งเสริมการค้าชายแดนให้ขยายตัว
“กระทรวงการคลังพร้อมรับข้อเสนอของทุกหน่วยงานในพื้นที่ภาคตะวันตก (กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง) ที่มีศักยภาพการค้าชายแดน เกษตรแปรรูป โดยนำไปเชื่อมโยงกับพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางและขนถ่ายสินค้าระหว่างกัน ผ่านการลงทุนด้านการคมนาคม การค้า อุตสาหกรรม สร้างระบบโลจิสติกส์ในการส่งออกสินค้า การท่องเที่ยว และยกระดับให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของภาคตะวันตก เชื่อมต่อการค้าชายแดนกับประเทศเมียนมาในอนาคต” รมว.คลัง ย้ำ
ด้าน นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง กล่าวระหว่างเดินทางลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การค้าชายแดน บริเวณจุดผ่านแดนถาวรบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี ว่า พื้นที่แห่งนี้ ภายใต้การดูแลของด่านศุลกากรสังขละบุรี กรมศุลกากร จะกลายเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแห่งใหม่ ที่เชื่อมโยงการค้าและการลงทุน ระหว่าง จ.กาญจนบุรี กับโครงการท่าเรือน้ําลึกทวาย ประเทศเมียนมา รวมถึงเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ และเป็นประตูการค้าด้านตะวันตก เชื่อมโยงกับการค้าด้านตะวันออกของประเทศไทย รวมถึงต่อเนื่องไปยังกลุ่มจังหวัดภาคใต้ตอนบน ตั้งแต่ จ.ชุมพรขึ้นมาอีกด้วย
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังโดยกรมธนารักษ์ พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนที่ดินราชพัสดุที่อยู่ในความดูแล รองรับโครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ อาทิ การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมใหม่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษฯ การค้าชายแดน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงโครงการก่อสร้างถนน 2 ช่องทางเชื่อมพื้นที่เขตเศรษฐกิจทวายกับจุดผ่านแดนถาวรบ้านพุน้ําร้อน จ.กาญจนบุรี
ขณะเดียว ก็พร้อมจะผลักดันโครงการเปลี่ยนผู้บุกรุกเป็นผู้เข้าที่ราชดินราชพัสดุอย่างถูกกฎหมาย โดยวันนี้ (11) ร่วมกับนายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ มอบที่หนังสือสัญาเช่าที่ดินฯให้กับชาวบ้าน ม.12 ต.บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี จำนวน 100 ราย 141 สัญญา เนื้อที่กว่า 845 ไร่ ตามโครงการธนารักษ์ประชารักษ์ พร้อมกันนี้ ยังให้นโยบายกรมธนารักษ์เร่งดำเนินโครงการเปลี่ยนชุมชนให้เป็นห้องประชุม และสร้างตลาดนัดชุมชน เพื่อเติมโอกาสให้กับประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ได้เข้าแหล่งรายได้เสริมอาชีพหลัก อันเป็นการสร้างและวางระบบเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดความเข้มและยั่งยืนต่อไป ทั้งนี้ ตนพร้อมสนับสนุนการดำเนินของกรมธนารักษ์ในทุกๆ ด้าน
ขณะที่ นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผจก. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาเกษตรกรใน 3 จังหวัด ว่า ธ.ก.ส.พร้อมดูแลเกษตรกรรม ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ผ่านสินเชื่อต่างๆ ที่มี รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมการเกษตรและเกษตรแปรรูป
โดย ธ.ก.ส.เตรียมร่วมมือกับภาคเอกชนบริษัท มิตรผล กระทรวงอุตสาหกรรม มูลนิธิสัมมาชีพ เพื่อร่วมกันดูแลอุตสาหกรรมอ้อย ลดการเผาไหม้ คิดดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี ส่วนโรงงานน้ำตาลอีกหลายราย ดูแลด้วยการรับซื้อใบอ้อยจากชาวไร่จาก 50 ชุมชน เพื่อนำใบอ้อยไปใช้เป็นวัตถุดิบเผ่าไหม้ สำหรับการผลิตโรงงานไฟฟ้าชีวมวล เพราะสร้างรายได้จากใบอ้อยไร่ละ 2 ตัน รายได้ 100 บาทต่อตัน และยังพร้อมให้สินเชื่อพลังงานทดแทน และยังช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองจากการเผาไหม้ใบอ้อย ขณะที่ภาคเอกชนเสนอเพิ่มวงเงินสินเชื่อซื้อรถตัดอ้อยเพิ่มเติม รวมถึงการยกระดับนำโมเดลจากชุมชนหนองสาหร่าย อ.พนมทวน มาช่วยดูแลส่งเสริมดูแลขนมทองม้วน เพราะมีศักยภาพส่งออกได้นับพันล้านบาทต่อปี จึงหารือกับแกนนำชุมชนเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ของกาญจนบุรี การท่องเที่ยวฯ พร้อมมาร่วมพัฒนาหนองส่าหร่ายให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลัก
สำหรับ จ.ราชบุรี เป็นตลาดค้าส่งผักใหญ่ที่สุดจังหวัดหนึ่ง และการผลิตโคนม เพื่อพัฒนาห่วงโซ่ ด้วยการส่งเสริมการปลูกหญ้าเนเปียร์ เพื่อเชื่อมโยงตลาดร่วมกัน จึงต้องปรับปรุงอาชีพหลัก พืชผักผลไม้นับร้อยกลุ่ม การเลี้ยงโคนม ในส่วน จ.สุพรรณบุรี ส่วนใหญ่มีการปลูกข้าว จึงต้องดูแลเรื่องปุ๋ยสั่งตัด การใช้โดรน ขณะนี้มีกลุ่มสหกรณ์มีโดรน 100 ลำ บอร์ด ธ.ก.ส.อนุมัติปรับเปลี่ยนอาชีพวงเงิน 15,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยผ่อนปรน ดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 เพื่อรับจ้างบินโดรนใส่ปุ๋ย ฉีดยาปราบศัตรูพืช ภายในสิ้นปี ธ.ก.ส. เพื่อเป็นแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก
ด้านตัวแทนผู้บริหารธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารฯ พร้อมมุ่งส่งเสริมและสร้างอาชีพ สร้างความรู้ สร้างตลาดให้กับชุมชน พร้อมรับฟังความเห็นจากประชาชน โดยได้แก้ปัญหาเวลาการเปิดในการให้บริการ (เปิดปิด) ที่สอดคล้องกับการดำเนินวิถีชีวิตของชาวบ้าน ผ่านตู้เติมเงิน เช่น บุญเติม และเติมสบาย รองรับความต้องการของภาคประชาชน ซึ่งขณะนี้ พบว่ามีแผงค้าขายของประชาชน กระจายทั่วประเทศ 227,932 แผงค้า มีตลาดชุมชน 2,514 ตลาด ในส่วนของ 3 จังหวัด มีตลาด 129 ตลาด และแผงค้า 9,798 แห่ง แบงก์รัฐร่วมกับหลายหน่วยงาน เพื่อส่งเสริมทั้งการท่องเที่ยวชุมชน การสร้างตลาดออนไลน์
ในส่วนของเอสเอ็มอีดีแบงก์ ดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เมื่อตัดอ้อยเสร็จจะส่งเข้าหีบเป็นน้ำตาล จึงพร้อมให้สินเชื่อดูแลโลจิสติกส์ในอุตสาหรกรมอ้อย ขณะนี้อนุมัติสินเชื่อแล้ว 50 ราย วงเงิน 170 ล้านบาท อาจเพิ่ม 300 ล้านบาท ในปีหน้า 3 จังหวัดคาดว่าปล่อยสินเชื่อได้ 900 ล้านบาท สำหรับการท่องเที่ยวที่พักโรงแรม สินค้าโอท็อป พร้อมให้สินเชื่ออุตหสากรรมฐานรากให้เป็นมาตรฐาน พัฒนาบรรจุภัณฑ์
ด้านนายผยง ศรีวณิช กก.ผจก.ใหญ่ ธนาคารกุรงไทย กล่าวว่า ธนาคารกรุงไทยพร้อมดูแลสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการในกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ที่พบว่านักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเพื่อการท่องเที่ยว 10 ล้านคน/ครั้ง สร้างรายได้เข้า 3 จังหวัดจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังพบว่า มีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้จ่ายเงินผ่านมาตรการ “ชิมช้อปใช้” ในกระเป๋า 2 กับร้านกาแฟ ร้านอาหาร โรงแรมที่พัก ริมแม้น้ำแควมีร้านเข้าร่วมโครงการกว่า 180 ร้านค้า โดยช่วงที่ผ่านมา มาการใช้รวมกันสูงถึง 30 ล้านบาท ดังนั้น ธนาคารฯ จึงต้องเร่งรัดให้มีการใช้เงินผ่านกระเป๋า 2 มากขึ้น พร้อมจัดทำระบบรองการใช้จ่ายเงินให้ง่ายขึ้นด้วย.