ธนส.ชี้ไทยดัน RCEP ลดผลสงครามการค้า
EXIM BANK ออกบทวิจัยฯล่าสุด ชี้ความสำเร็จที่ไทยสร้างไว้กับ RCEP มีมากมาย ชี้ช่วยบรรเทาผลกระทบจากสงครามการค้า และสร้างกระแสปกป้องทางการค้าที่ทั่วโลกกำลังเผชิญหน้าขั้นรุนแรง
ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือ EXIM BANK ออกรายงานบทวิจัยธุรกิจจาก EXIM BANK หัวข้อ “ปิดฉาก ASEAN Summit : ปลดล็อกข้อจำกัด…ผลักดัน RCEP เดินหน้าต่อ” โดยระบุว่า…
จบไปแล้วกับการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 35 ที่ประเทศไทยในฐานะประธานและเจ้าภาพการประชุมอาเซียนตลอดทั้งปี 2562 ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งในบรรดาหัวข้อการเจรจาในครั้งนี้ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ถือเป็นจุดสนใจของนานาประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากเคยเป็นความตกลงที่เป็นคู่เทียบกับความตกลงเขตการค้าเสรีสำคัญอย่าง Trans-Pacific Partnership (TPP) ที่เคยมีสหรัฐฯ เป็นหัวหอก
แม้ปัจจุบันถูกลดระดับความสำคัญลง หลังจากสหรัฐฯถอนตัว จนปัจจุบันบรรลุข้อตกลงภายใต้ชื่อ Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership (CPTPP) ประกอบกับเศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญสงครามการค้า ซึ่งถือเป็นแนวคิดที่ตรงกันข้ามกับแนวคิดการค้าเสรีโดยสิ้นเชิง ความสำเร็จในการเจรจาความตกลง RCEP ในครั้งนี้ จึงถือเป็นพัฒนาการสำคัญที่จะมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบจากสงครามการค้า และกระแสปกป้องทางการค้าที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่
ความสำเร็จที่ถือเป็นไฮไลต์สำคัญ คือ การที่ประเทศไทยสามารถผลักดันให้เกิดผลสรุปของการเจรจาความตกลง RCEP ได้ครบข้อเจรจาทั้งหมด 20 บท จากช่วงต้นปี 2562 ที่ได้ผลสรุปเพียง 7 บท โดยเป็นการบรรลุข้อเจรจาระหว่างอาเซียน 10 ประเทศกับประเทศหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ยกเว้นเพียงอินเดียที่ยังไม่พร้อมในการเปิดเสรีการค้าการลงทุนในบางรายการตามความตกลง RCEP ซึ่งหลังจากนี้คณะเจรจาต้องไปจัดเตรียมข้อกฎหมายเพื่อให้พร้อมสำหรับการลงนามในปี 2563 สำหรับประเด็นที่น่าสนใจและผลประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากความตกลง RCEP มีดังนี้
- การเจรจายังคงยึดมั่นในการให้สมาชิก ซึ่งหมายถึงประเทศในอาเซียนและประเทศหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจทั้ง6 ประเทศ สามารถดำเนินการโดยสมัครใจ และเคารพสิทธิของแต่ละประเทศผู้ร่วมเจรจา โดยการยอมให้อินเดีย ซึ่งยังไม่พร้อมในการเปิดเสรีการค้าการลงทุนในบางรายการตามความตกลง RCEP ถอนตัวออกก่อน แต่ยังสามารถกลับมาเจรจาหาข้อสรุปร่วมกันได้ในภายหลัง ทั้งนี้ คาดว่าโอกาสที่อินเดียจะกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจามีความเป็นไปได้พอสมควร เพราะในเกมการต่อรองที่ไม่มีการกำหนดเวลาจบสิ้นชัดเจน
เช่นการเจรจาในช่วงก่อนหน้า ทำให้การประเมินผลได้/เสียเป็นไปได้ยาก ซึ่งเมื่อความตกลง RCEP เริ่มเดินหน้าและก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านการค้าและการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น อินเดียจะมีแรงจูงใจมากขึ้นในการเข้าร่วมความตกลง
- กลุ่มประเทศภายใต้ความตกลงRCEP กลายเป็นแหล่งลงทุนที่น่าสนใจยิ่งขึ้นในมุมมองของนักลงทุนต่างชาติ โดยประเทศสมาชิก RCEP (ไม่รวมอินเดีย) มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันถึง 24.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 29 ของขนาดเศรษฐกิจโลก ขณะที่มีประชากรรวมกันถึงราว 3.6 พันล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน
ร้อยละ 30 ของจำนวนประชากรโลก สำหรับประเทศไทย ด้วยความพร้อมของอุตสาหกรรมสนับสนุน และโครงสร้างพื้นฐาน ไปจนถึงนโยบาย EEC ซึ่งเป็น New Engine of Growth ของประเทศไทยก็จะได้ประโยชน์จากการเป็นแหล่งลงทุนที่น่าสนใจมากขึ้นเช่นกัน
- ความตกลงRCEP จะช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้า แม้ว่าเดิมทีอาเซียนมีการทำ FTA กับประเทศหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเป็นรายประเทศอยู่แล้ว แต่คาดว่าจะมีสินค้าส่งออกของไทยที่จะได้ประโยชน์เพิ่มเติมจากความตกลง RCEP โดยก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์ได้เคยประเมินว่าสินค้าในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติกและเคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ยางล้อ เส้นใย สิ่งทอ
เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลัง และกระดาษ จะเป็นกลุ่มสินค้าที่ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องรอรายละเอียดความตกลง RCEP ที่ชัดเจนเพื่อประเมินสินค้าที่จะได้ประโยชน์อีกครั้งหนึ่ง ประกอบกับการที่อินเดียยังไม่ได้ร่วมความตกลง RCEP อาจทำให้กลุ่มสินค้าที่ได้รับประโยชน์เปลี่ยนแปลงไป
- การที่อินเดียยังไม่เข้าร่วมRCEP ไม่ได้บั่นทอนการค้าระหว่างไทยและอินเดียแต่อย่างใด เนื่องจากไทยและอาเซียนยังคงมีข้อตกลงเขตการค้าเสรีร่วมกับอินเดียภายใต้ Thailand-India Free Trade Agreement (TIFTA) และ ASEAN-India Free Trade Agreement (AIFTA) ขณะเดียวกันอินเดียนับเป็นตลาดเป้าหมายใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทย ซึ่งภาครัฐให้ความสำคัญและพร้อมสนับสนุนในการเปิดตลาด โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การส่งออกของไทยไปอินเดียขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 9 ต่อปี เทียบกับการส่งออกของไทยโดยรวมที่ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 2
แม้ว่า RCEP จะยังไม่สำเร็จผลอย่างเต็มรูปแบบ แต่ก็เป็นสิ่งที่สามารถคาดการณ์และมีเวลาในการเตรียมพร้อมเพื่อรุกโอกาสการค้าการลงทุนที่กำลังจะเกิดขึ้น ผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นต้องเตรียมกลยุทธ์ให้พร้อม โดยเฉพาะด้านการลงทุนที่เปิดกว้างขึ้นจากความตกลง RCEP ซึ่งสำหรับผู้ประกอบการที่มีความพร้อมในการขยายการลงทุนไปต่างประเทศ ควรศึกษาลู่ทางและแสวงหาโอกาสลงทุนในประเทศสมาชิก RCEP โดยอาศัยจุดแข็งของประเทศนั้น อาทิ ความพร้อมด้านแรงงาน และทรัพยากรทางธรรมชาติ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกิจการ
ส่วนผู้ประกอบการไทยที่ยังไม่มีความพร้อมด้านการลงทุนในต่างประเทศ หรือยังไม่มีแผนการลงทุนในต่างประเทศ ควรเตรียมกลยุทธ์รับมือกับแนวโน้มการแข่งขันในประเทศที่อาจรุนแรงขึ้นจากการเข้ามาของผู้ประกอบการต่างชาติในอนาคต โดยผู้ประกอบการในภาคการผลิตจำเป็นต้องเร่งยกระดับศักยภาพของธุรกิจไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง หรือผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับตลาดผู้บริโภคยุคใหม่ ไปจนถึงการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ.