มะกันยาหอมพร้อมย้ายฐานผลิตเข้าไทย
รมต.พาณิชย์มะกัน หยอดยาหอมไทย ชมจัดประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 ได้อลังการ พร้อมหนุนนโยบาย Thailand 4.0 เชื่อการถูกอัพเกรด Doing Business 2020 ดึงทุนต่างชาติไหลเข้าไทยเพิ่มขึ้น ลั่นทุนสหรัฐฯพร้อมย้ายฐานแล้ว
นายลวรณ แสงสนิท ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการที่นายอุตตม สาวนายน รมว.กระทรวงการคลัง ให้การต้อนรับและประชุมหารือร่วมกับนายวิลเบอร์ รอสส์ (Mr. Wilbur Ross) รมต.พาณิชย์สหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐสหรัฐฯ คณะนักธุรกิจชั้นนำของสหรัฐฯ จำนวน 16 บริษัท โดยมีประเด็นหารือเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจการเงินของประเทศไทย รวมทั้งมาตรการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ เมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ รมต.พาณิชย์สหรัฐฯ แสดงความชื่นชมการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย รวมถึงสนับสนุนการดำเนินนโยบาย Thailand 4.0 และแสดงความยินดีกับการที่ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจประจำปี 2563 (Doing Business 2020) ดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา รวมทั้งชี้แจงว่าได้นำภาคเอกชนสาขาต่างๆ มาเยือนประเทศไทยครั้งนี้ เนื่องจากสหรัฐฯ เล็งเห็นโอกาสและลู่ทางการลงทุนในประเทศไทย รวมถึงความเป็นไปได้ในการย้ายฐานการผลิต (Relocation) มาประเทศไทย
ด้านนายอุตตมได้ยืนยันถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนประเทศไทยตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และยกระดับประเทศไทยสู่ยุค 4.0เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม(Transformation) และมุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันโดยนักธุรกิจสหรัฐฯ ได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษกับโครงการเขตพัฒนาพิเศษตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ซึ่งมีบริษัทชั้นนำ อาทิ Baxter International ผู้นำเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ได้เข้ามาลงทุนใน EEC แล้วและมองว่าประเทศไทยจะเป็นฐานการผลิตที่สำคัญสำหรับภูมิภาคอาเซียนได้
นอกจากนี้ นักธุรกิจสหรัฐฯ ยังได้แสดงความสนใจโอกาสทางธุรกิจในด้านต่างๆ โดยเฉพาะสาขาพลังงาน การเงิน และโครงสร้างพื้นฐานซึ่งรัฐบาลพร้อมที่จะให้การสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ โดยที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการปรับปรุงกฎระเบียบให้มีความโปร่งใส เช่น การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและพิธีการศุลกากร มุ่งเน้นการเสริมสร้างบรรยากาศการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ รวมถึงการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย โดยเห็นได้จากการที่ธนาคารโลกได้ปรับอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจประจำปี 2563 ของประเทศไทยมาอยู่ที่อันดับที่ 21 ของโลกนอกจากนี้ รัฐบาลพร้อมที่จะสนับสนุนความร่วมมือระหว่างทั้ง 2 ประเทศในเชิงหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาทั้งในประเทศและอนุภูมิภาค และสนับสนุนความเชื่อมโยงในภูมิภาคด้วย.